กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อวุฒิสมาชิก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อวุฒิสมาชิก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 29 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 60 ในส่วนของวุฒิสภา ในขณะที่เพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้นที่เคยอ่าน และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 เคยได้ยินว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ว่าไม่ดีเรื่องวุฒิสมาชิก ในขณะที่ร้อยละ 26.4 ไม่เคยได้ยิน
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.5 เคยได้ยินรับรู้เกี่ยวกับวุฒิสมาชิกว่าเลือกนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.3 ไม่รู้ว่าวุฒิสมาชิกห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ไม่รู้ว่าวุฒิสมาชิกห้ามเป็นพ่อแม่ คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่น และคนมีตำแหน่งในองค์กรอิสระในคราวเดียวกัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ไม่รู้ว่าห้ามวุฒิสมาชิกฝักใฝ่หรือยอมทำตามพรรคการเมืองใด ๆ
ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความต้องการต่อการทำงานของวุฒิสมาชิก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ช่วยแก้ปัญหาปากท้อง แก้ความยากจน ร้อยละ 73.5 ช่วยเหลือด้านกฎหมายให้ประชาชนมีช่องทางทำมาหากิน ไม่ขัดสน มีงานทำ ร้อยละ 69.9 เป็นที่พึ่งเรื่องที่ทำกิน ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นธรรมเท่าเทียม ร้อยละ 68.7 ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่น และร้อยละ 65.5 เข้าถึงประชาชน ติดดิน ไม่เหินห่าง
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า โพลชิ้นนี้ชี้ว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมแสดงผลงานของกลไกต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญปี 60 เพราะกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกระแสข่าวแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นวุฒิสมาชิก (ส.ว.) น่าจะแสดงผลงานให้เห็นว่า "สิ่งที่ทำอยู่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ" ไม่ห่างไกลประชาชน แต่ ส.ว. ต้องมีข้อมูลที่ดีครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อออกแบบปฏิบัติการที่ดีมาทำงานตรงใจประชาชนทั้งประเทศโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดบูรณาการการสื่อสารเชิงการตลาดเพื่อสังคม (Integrated Marketing Communication, IMC) เช่น ใช้ยุทธวิธี On-Air Online และ On-Ground ในทุกมิติตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากสาธารณชนได้