กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ประเมินผลกระทบน้ำท่วมจากพายุโพดุลทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนและข้อจำกัดของมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งปัญหารุมเร้าจากภายนอก สหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีตามที่ประกาศเอาไว้ 1 ก.ย. ครอบคลุมมูลค่าสินค้ารอบใหม่ 1.87 แสนล้านดอลลาร์ หวั่นกระทบการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกของไทยและมีผลกระทบจากช่องทางประเทศคู่ค้าของไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนสูง
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลกระทบจากพายุโพดุลทำให้น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง มีผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวรุนแรงอย่างมาก ความยากลำบากและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชนในชนบทระดับฐานรากนั้นถูกซ้ำเติมทั้งจากภัยแล้งก่อนหน้านี้และตามมาด้วยน้ำท่วมฉับพลันล่าสุด พืชผลหลักๆ ไม่ว่าเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ถนนหลวงได้รับความเสียหายใน 12 จังหวัด ถนนสายหลัก 23 เส้นทางมีปัญหาต่อการสัญจร พื้นที่ในเขตเมืองได้รับผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนชะลอตัวและหยุดชะงักในบางพื้นที่ ผลประกอบการของธุรกิจประกันภัยลดลงจากการจ่ายชดเชยความเสียหายทรัพย์สินของภาคธุรกิจและประชาชนผู้เอาประกัน
การค้าชายแดนไทยลาวชะลอตัวลงชัดเจน โดยประเทศลาวด้านใต้ได้รับผลกระทบอุทกภัยรุนแรงจากพายุเช่นเดียวกัน ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน แต่จะทำให้การผลิตสาขาเกษตรกรรมในภาพรวมติดลบต่อเนื่องในไตรมาสสามและสี่ปีนี้จากอัตราการขยายติดลบในไตรมาสสอง -1.1% ระดับราคาพืชผลและราคาอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตผู้คนจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมากกว่าที่ควรเป็นล้วนสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ การอนุรักษ์ป่าไม้และปัญหาภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่า เราต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและภาครัฐต้องมีนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง การผ่อนคลายมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่พิจารณาผลกระทบระยะยาวเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเป็นสิ่งที่จะสร้างภาระต่อสังคมในอนาคต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า มาตรการการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอาจติดขัดจากโครงสร้างการบริหารประเทศที่มีการกระจายอำนาจลดลง กระจายอำนาจการคลังน้อยลง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ช้าลง ด้อยประสิทธิภาพลงและมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือไม่เพียงพอ ส่วนงบประมาณช่วยเหลือของประชาชนนั้นน่าจะจัดสรรได้ แต่งบซ่อมแซมถนนและสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐอาจต้องรองบประมาณปี 2563 ซึ่งจะมีอนุมัติล่าช้าและเริ่มนำมาใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนี้เจอปัจจัยภายในภายนอกรุมเร้ามาก ผลกระทบสงครามการค้าก็หนักขึ้น เริ่มกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค สหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีตามที่ประกาศเอาไว้ 1 ก.ย. ครอบคลุมมูลค่าสินค้ารอบใหม่ 1.87 แสนล้านดอลลาร์ (สหรัฐฯเก็บภาษีครอบคลุมมูลค่าสินค้า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ จีนตอบโต้ด้วยภาษีครอบคลุมมูลค่าสินค้า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์) หวั่นกระทบการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกของไทยและมีผลกระทบจากช่องทางประเทศคู่ค้าของไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนสูง ส่งผลทำให้ประเทศคู่ค้าไทยเหล่านี้ ประกอบไปด้วย เกาหลีใต้ ญีปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย ฮ่องกง สั่งซื้อสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบจากประเทศไทยน้อยลง โดยประเทศกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 25-26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด