กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมช่องทางส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย สัตว์มีชีวิต โค-กระบือ สุกร เป็ด ไก่ ไข่ไก่และเนื้อสัตว์ โดยตรวจเยี่ยม ณ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย (เชียงแสน) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งทั้งหมดเป็นช่องทางการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญมากโดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 - ส.ค. 2562 มีข้อมูลการส่งออกโค 74,464 ตัว กระบือ 23,579 ตัว สุกรประมาณ 100,000 ตัว ไก่พื้นเมือง 80,626 ตัว เป็ด 96,460 ตัว ซากสัตว์ปีก 11,651 ตัน ซากสุกร 3,309 ตัน และไข่ไก่ 3.6 ล้านฟอง คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 4.11 พันล้านบาท และแนวโน้มในอนาคตตลาดโคมีชีวิตผ่านช่องทางการส่งออกช่องทางนี้ ยังมีความต้องการอีกมาก จึงจะให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมการเลี้ยงโคให้กับเกษตรกรในประเทศให้มากขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่มีความต้องการสูงนี้ต่อไป
นายประภัตร เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้มีการประชุมหารือการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟฟริกาในสุกร ร่วมกับ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ณ ห้องประชุมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้พบการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย ล่าสุดพบการระบาดที่ประเทศพม่า โดยแนวทางการป้องกันของไทยนั้นจะต้องบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพิ่มการตั้งด่านกักกันสัตว์ให้มากขึ้นตลอดแนวชายแดน 24 ชั่วโมง เพิ่มกำลังคนทุกจุด อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือในการอำนวยความสะดวกให้แต่ละด่าน โดยรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจโรคเฝ้าระวังอย่างเต็มที่
"ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ให้เคร่งครัดการเฝ้าระวังโรค การตรวจยึดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทราบถึงมาตรการการควบคุม ป้องกันโรคของประเทศไทย โดยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสั่งการให้กรมปศุสัตว์สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด ได้แก่ มาตรฐานตามระบบ GFM หรือระบบ GAP และขอความร่วมมือให้เกษตรกรในการแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์หากพบสุกรมีอาการป่วยตายผิดปกติ" นายประภัตร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันข้อมูลจาก OIE พบ มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรใน 24 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยทวีปยุโรป 12 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศและทวีปเอเชีย 7 ประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบการระบาดของโรคในเวียดนาม ลาว กัมพูชาและเมียนมาร์