กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 59 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุ"โพดุล" ยังคงปกคลุมบริเวณจังหวัดเลย เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ ประกอบกับกรมทรัพยากรธรณี ให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักมากถึงหนักมากหลายพื้นที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 59 จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็น
พื้นที่ที่ต้องติดตามผลกระทบจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคกลาง ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก และเพชรบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
พื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ และอุบลราชธานี
พื้นที่ต้องติดามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ภาคกลาง ได้แก่ สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง และพังงา
พื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากคลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป