กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--โรงพยาบาลรามคำแหง
จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคลมพิษที่มารับการรักษาส่วนใหญ่ คือวัยทำงาน อายุระหว่าง 20-40 ปี อาจเพราะมีอาการเครียดสะสม และละเลยการดูแลสุขภาพ
อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งลมพิษแบ่งได้เป็นชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยพบว่าลมพิษเฉียบพลันประมาณ 10-20% ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องจนเป็นลมพิษเรื้อรังได้
ลมพิษเป็นโรคที่ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง มีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 ซม. มีอาการคันมาก หรือบางคนอาจมีอาการบวมของหนังตา ปาก แก้ม ใบหู หนังศีรษะ ซึ่งผื่นลมพิษแต่ละจุดมักหายได้เองภายใน 2–3 ชั่วโมง หรือมักอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วจึงย้ายที่เกิดผื่นใหม่
ผื่นลมพิษที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ไม่เกิน 6 สัปดาห์ เรียกว่า 'ลมพิษเฉียบพลัน' ส่วนใหญ่มักหาสาเหตุไม่พบ โดยบางรายเกิดจากการแพ้ยา อาหาร หรือแมลง บางรายเกิดจากโรคติดเชื้อ แต่ถ้าเป็นผื่นลมพิษติดต่อกันแทบทุกวันเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป เรียกว่า 'ลมพิษเรื้อรัง' ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีโรคร้ายซ่อนอยู่หรือไม่ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ไทรอยด์ หรือโรคมะเร็ง
ส่วนการรักษานั้น จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยง ร่วมกับการกินยาหรือฉีดยา ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป รวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการด้วยการไม่แกะเกาผิวหนัง กินยาตามแพทย์สั่ง พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายและไม่เครียด