กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉลองครบรอบ 83 ปี โชว์ 6 นวัตกรรมบริการ หวังพัฒนาเป็นห้องสมุดดิจิทัลในอนาคต เตรียมแผนเข้าสู่ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001:2015 สร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ ยลระบิล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปี 2562 หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาและอาจารย์ ที่เน้นความสะดวก และรวดเร็ว โดยบริการที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่มีด้วยกันถึง 6 บริการ ได้แก่ การเข้า-ออกประตูห้องสมุดอัตโนมัติด้วย QR-Code การชำระค่าบริการผ่านระบบ e-Payment โดยความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ บริการ Single Account การใช้บริการห้องสมุดด้วย Username และ Password เดียว บริการค้นหาและจัดส่งเอกสาร (Full Text Finder Service) เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย บริการให้ยืมอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการค้นคว้าวิจัย (Library of Things) เช่น คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) อุปกรณ์เชื่อมต่อจอไร้สาย (Wi-Fi Display) ปลั๊กพ่วงสายไฟ (Power Strip) ที่ตั้งอ่านหนังสือ (Bookstall) เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาบริการระบบคลังข้อมูลดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Digital Collections) ที่รวบรวมทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่น่าสนใจมากกว่า 20 คอลเลคชั่น อาทิ วิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสืออนุสรณ์งานศพ หนังสือคำสอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทุกที่ทุกเวลา โดยนอกจากจะให้บริการแก่นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถสมัครสมาชิกและเข้าใช้งานได้ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://digital.library.tu.ac.th
ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอสมุดฯ ยังมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามระบบมาตรฐาน ISO 14001:2015 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ด้วยการทำความเข้าใจให้แก่บุคลากรภายในหน่วยให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของหอสมุดฯ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การรณรงค์ส่งเสริมเรื่องการแยกขยะทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการห้องสมุดได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะเข้ารับการตรวจเพื่อรับรองระบบภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้
"ผมเชื่อว่า ไม่ว่าวิธีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร ห้องสมุดยังคงมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่หอสมุดฯ ดำเนินการ คือ การพัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และใช้งานไปพร้อมๆ กัน รวมไปถึงการสร้างความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อการเป็นหอสมุดแห่งคุณภาพและความยั่งยืนของประชาคมธรรมศาสตร์" ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ กล่าว