กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--คาริสม่า มีเดีย
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) จัด Road Show สร้างการรับรู้การดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ณ วัดโป่งคำ จังหวัดน่าน โดยเบโด้ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ กรมป่าไม้ (ปม.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช (อส.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยพลังสนับสนุนจากกลุ่มเครือข่าย 11 หน่วยงาน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเครือข่ายชุมชนทั้งในจังหวัดน่านและใกล้เคียงเข้าร่วมงาน โดยมีนายพงษ์ศิลป์ ผาลา นายอำเภอสันติสุข จ.น่าน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน
นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) กล่าวว่า "จากแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) จึงได้ดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ต่างๆ รวมทั้งไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของตนเอง ทั้งนี้ พื้นที่ตั้งจะต้องไม่ตั้งอยู่ในเขตของกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งในการดำเนินการจะส่งเสริมให้เจ้าของพื้นที่ปลูกพันธุ์กล้าไม้ที่มีความสมบูรณ์และมีความเหมาะสมตามระบบภูมินิเวศ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปลูกพืชทุกระดับชั้น ปลูกพืชพื้นล่าง อาทิ สมุนไพร ไม้ดอก ไม้หัว และพืชผักพื้นบ้านต่างๆ ให้สามารถเก็บกินเก็บขายได้ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งพันธุกรรรมเพื่อการอนุรักษ์ สำคัญ คือ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในการเป็นแหล่งวัตถุดิบ เพื่อนำมาต่อยอดเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์และบริการตาม BEDO Concept ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1) การใช้ทรัพยากรชีวภาพชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก
2) การผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
3) การปันรายได้บางส่วนไปอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรชีวภาพ
"ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว" จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมกำลังให้กับเศรษฐกิจฐานราก นอกจากประชาชนจะอยู่ดีกินดี มีทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสินทรัพย์แล้ว ยังก่อให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อเติมเต็มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ร้อยละ 15 ตามแนวนโยบายของรัฐบาล
มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน เป็นตัวอย่างชุมชนที่มีความเข้มแข็งที่พลิกฟื้นจากอดีตที่เน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งส่งออกพืชเศรษฐกิจนานาชนิด จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ป่าถูกทำลาย เกิดปัญหาความแห้งแล้งตามมา จนกระทั่งพระครูสุจิณนันทกิจ หรือ พระสมคิด จรณธมโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ผู้นำทางศาสนา ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างผืนป่าให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยดำเนินโครงการ "สวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย"เพื่อให้ชุมชนร่วมกันปลูกป่า สร้างข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนจากป่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ สมุนไพร การทอผ้า และการย้อมผ้า ซึ่งทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของป่าและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้วัดโป่งคำ กลายเป็น "ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ" ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านต้นไม้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อพัฒนาให้เห็นศักยภาพของชุมชน เช่น กลุ่มย้อมผ้าสีธรรมชาติ กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มผู้สูงอายุ รวมกลุ่มเป็นกลุ่มตีเหล็ก / กลุ่มจักสาน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งคำ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนา และกลุ่มเครือข่ายแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นพลังเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการร่วมอนุรักษ์พื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันได้เกิดพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว" จำนวน 2,431 ชุมชน แบ่งเป็นภาคเหนือ 828 ชุมชน ภาคกลาง 82 ชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 830 ชุมชน ภาคตะวันออก 157 ชุมชน ภาคตะวันตก 258 ชุมชน ภาคใต้ 258 ชุมชน คิดเป็นจำนวน 119,538 ไร่"
สำหรับการจัดกิจกรรม Road Show สร้างการรับรู้การดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" ที่จัดขึ้นในวันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์"ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว" และรับทราบข้อมูลที่น่าสนใจในการดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" จากชุมชนต้นแบบหลายแห่ง อาทิ สกลนคร สงขลา สุพรรณบุรี พร้อมทั้งได้รับฟังเสวนาวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้ถึงประโยชน์ของไม้มีค่าในท้องถิ่น ขั้นตอนในการดำเนินงานและแนวทางการนำไปสู่ความสำเร็จ สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการแจกกล้าไม้ เพื่อให้ชุมชนที่มาร่วมงาน ได้นำกลับไปปลูกยังพื้นที่ของตนเองอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม Road Show สร้างการรับรู้การดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" ไปยัง 4 ภูมิภาค โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร