กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ซีพี ออลล์
ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลหนังสือดีเด่น "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด"ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 พร้อมการปาฐกถาพิเศษด้านการอ่านจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้คัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, การ์ตูน, รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อยกย่องเชิดชูนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่านการเขียนให้มากยิ่งขึ้น
"โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นโครงการที่บริษัทมุ่งหวังให้เป็นเวทีเชิดชูและเป็นกำลังใจให้นักเขียนไทยได้พัฒนาฝีมือหรือผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ที่ดำเนินการต่อเนื่องก้าวสู่ปีที่ 16 และเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ที่จะมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้เป็นหนทางของการพัฒนาคนนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซีเอสวีของซีพี ออลล์ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนที่ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้สังคมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน การเขียนให้เติบโตต่อไป"
นอกจากนี้ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นประธานมอบรางวัลและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องการอ่านว่า
"ในช่วงหลังตลาดหนังสือหดตัวลง การประกวดรางวัลที่เกี่ยวข้องกับหนังสือก็ไม่ค่อยมีมากเหมือนก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วงานประกวดหมายถึง สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการสนับสนุน ฉะนั้นการจัดการประกวดต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องการจะสร้างให้เป็นปึกแผ่น
ในยุคที่ดิจิตอลเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน ประโยชน์ที่ได้จากดิจิตอลคือความง่าย ความกว้าง และความเร็ว ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า
การเปลี่ยนผ่าน (ทรานฟอร์มเมชั่น) สิ่งที่ตั้งคำถามคือ หนังสือที่เป็นเล่มยังมีเสน่ห์อยู่รึเปล่าที่จะเคียงคู่ไปกับสื่อโซเซียลมีเดีย คนทำหนังสือต้องปรับตัวเอง บรรณาธิการ นักเขียนต้องจับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน สิ่งที่เป็นจุดแข็งของหนังสือ คือมีกองบรรณาธิการคอยคัดกรองก่อนว่า สิ่งที่จะนำเสนอออกมามีสาระ และคุ้มค่าหรือไม่ แต่โซเซียลมีเดียมีความสะดวกแต่ก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีคนคอยคัดกรอง ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด ฉะนั้นเราต้องทำอย่างไรที่ให้ลูกหลานรับรู้ถึงจุดอ่อนตรงนั้น หนังสือมีสิ่งดี โซเซียลมีเดียก็มีสิ่งดี แต่ทำยังไงให้เรารับในด้านดีๆ ของทั้ง 2 สื่อ"
โดยผลการประกวด ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทคือ "อรสม สุทธิสาคร" จากเรื่อง ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง (สารคดี), "มุนินฺ" จากเรื่อง "ประโยคสัญลักษณ์" (การ์ตูน), "โกลาบ จัน" จากเรื่อง "ใต้ฝุ่น" (นวนิยาย), "รินศรัทธา กาญจนวตี" จากผลงาน "ทุกขณะ กระจ่างชัด สัมผัสใจ กวีนิพนธ์ จากฉัน... ผู้ไร้ดวงตา" (กวีนิพนธ์), "ตินกานต์" จากเรื่อง "ดอก รัก" (รวมเรื่องสั้น) และ "โชติ ศรีสุวรรณ" จากเรื่อง "พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง" (วรรณกรรมสำหรับเยาวชน)
อรสม สุทธิสาคร กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการนักเขียน การจัดประกวดเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอ่าน และยังช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้นักเขียนด้วย
"ดิฉันเขียนหนังสือมา 32 ปีแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่อยากบอก คืออยากขอบคุณกรรมการที่เห็นความหมายของงานสารคดีที่บอกถึงความทุกข์ยากของผู้หญิงที่เป็นฝ่ายถูกกระทำความรุนแรง มองเห็นคุณค่าของงานแบบนี้ งานชิ้นนี้ไม่ใช่ประเภทโลกสวย เป็นงานของเรื่องจริงเรื่องหนักเรื่องที่เครียด แต่สะท้อนความเป็นจริง เพื่อที่สังคมจะได้หันมามองเรื่องราวตรงนี้ ผู้อ่านก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท"
ส่วน มุนินฺ เปิดเผยความรู้สึกว่า ดีใจมากที่ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นรางวัลที่รอคอยมานานแล้ว และเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับการทำหนังสือ
"นี่เป็นครั้งแรกที่ลองส่งไปในเวทีรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดแล้วก็ได้เลย ดีใจจริงๆ คณะกรรมการอธิบายสาเหตุที่หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลอย่างลงลึกไปถึงเนื้อหา แสดงถึงความใส่ใจในการคัดเลือกอย่างยิ่ง เห็นมิติที่เราไม่เคยจำกัดความมาก่อน เป็นรางวัลที่มีเป็นเกียรติมากๆ"
ขณะที่โกลาบ จัน กล่าวว่าเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นประโยชน์ต่อการอ่าน และสามารถสร้างคุณค่าให้กับวงการหนังสือได้อย่างยิ่ง รินศรัทธา กาญจนวตี ให้สัมภาษณ์ว่า รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดทำให้คนทำหนังสือได้เห็นว่า หนังสือยังมีความสำคัญและมีที่ทางของตัวเองจากการคัดสรรหนังสือดีๆ และในฐานะคนเขียนก็รู้สึกอยากพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
"เราเป็นคนตาบอด พิการทางสายตา การที่เราได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจะทำให้เรารู้สึกว่าสังคมมีพื้นที่ให้เราได้ยืน ทำให้เห็นว่าคนพิการสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เป็นที่ยอมรับทางสังคม อยู่ร่วมกับสังคมทำให้เรามั่นใจว่าเป็นคนปกติที่มองไม่เห็นแต่ไม่ได้แตกต่าง หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาสร้างมา 5 ปีและก็ได้ความช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์ และพี่ๆ ในสำนักพิมพ์ เซเว่นบุ๊คอวอร์ดจึงเป็นสัญลักษณ์ของคำขอบคุณอย่างเป็นรูปธรรมให้กับผู้ที่ร่วมสร้างหนังสือนี้ให้สำเร็จ"
ด้าน ตินกานต์ เผยว่า ดอก รัก เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอ จึงรู้สึกดีใจระคนตื่นเต้นมาก และเป็นกำลังใจให้เขียนหนังสือต่อไปเมื่อได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 16 ในครั้งนี้
"การเขียนหนังสืออย่างเดียวในประเทศนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัว ไม่ใช่นักเขียนทุกคนสามารถทำได้ โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ การประกวดจึงเหมือนสปอตไลท์ หนังสือที่ได้รางวัลเหมือนมีแสงไฟฉายส่องลงมา ถูกมองเห็นมากขึ้น อาจจำหน่ายได้มากขึ้น นั่นหมายถึงการอยู่รอดของนักเขียนด้วย และรางวัลก็เป็นการสนับสนุนอาชีพนักเขียนในทางหนึ่งค่ะ"
"เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" เป็นหนึ่งในโครงการ "ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน" ของซีพี ออลล์ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 16 ปี ตามอุดมการณ์ของบริษัทคือ "ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน" ซึ่งช่วยส่งเสริมการอ่าน ต่อยอดความคิดให้กับคนในสังคม อีกทั้งสร้างนักเขียนคุณภาพให้มีมากขึ้น และสนับสนุนงานเขียนที่มีความสร้างสรรค์ต่อสังคม
สำหรับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประกอบด้วย 7 ประเภทรางวัล คือ กวีนิพนธ์, การ์ตูน,นวนิยาย,รวมเรื่องสั้น,วรรณกรรมสำหรับเยาวชน,สารคดี(ทั่วไป) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ ผู้สนใจสามารถสมัครเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมประกวดหนังสือดีเด่น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 17 ได้ที่สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพี ออลล์ อาคารปัญจภูมิ 1 ชั้น 6 ถนนสาทรใต้ เขตสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์ 02-071-2902-3 หรือติดตามรายละเอียดที่ http://csrcpall.com