กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดแผนฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุโพดุลและคาจิกิในจ.ชัยภูมิและสุรินทร์หลังน้ำลด เน้นพิเศษ 4 กลุ่ม พร้อมแนะประชาชนช่วยดูแลจิตใจกัน ให้สอดส่องคนใกล้ตัวที่มีพฤติกรรมผิดปกติเช่น ร้องไห้ เหม่อลอย สีหน้าเศร้าหมองไม่สดใสเหมือนเก่า หากพบอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย รับฟังอย่างใส่ใจ และส่งมอบความช่วยเหลือเบื้องต้นที่มีเช่นน้ำดื่ม อาหาร หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้พาไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุโพดุล และพายุคาจิกิว่า จากการติดตามรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยล่าสุด มีพื้นที่ในเขตจังหวัดนครชัยบุรินทร์ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล 2 จังหวัดคือที่ชัยภูมิและสุรินทร์ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายและเข้าสู่ระยะของการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง2 จังหวัดและรพ.ที่อยู่ในพื้นที่จัดแผนฟื้นฟูจิตใจ โดยจัดทีมเยียวยาจิตใจแก่ผู้ประสบภัยหรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ลงพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งในช่วงหลังน้ำลดนี้จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพความเสียหายจากน้ำท่วมปรากฏชัดเจน อาจส่งผลกระทบทางจิตใจ โดยเฉพาะความเครียดที่อาจแสดงอาการได้หลายรูปแบบ เช่นปวดศีรษะ สมาธิลดลง เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ นอนไม่หลับ เป็นต้น ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับความสูญเสียและพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละคน โดยเน้นพิเศษ 4 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่มีความสูญเสีย เช่นทรัพย์สิน ไร่นาเสียหาย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมเช่นโรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มที่ป่วยทางจิตเวชอยู่แล้วเช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผลจากน้ำท่วมอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ หากพบรายใดมีปัญหาจะให้การดูแลฟื้นฟูตามมาตรฐานของกรมสุขภาพจิตจนกว่าจะเป็นปกติ
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลจิตใจกันในเบื้องต้น โดยใช้หลัก 3 ส. เพื่อประคับประคองจิตใจ ลดความเครียด และส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวหลังจากประสบภัย ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ทันที ประกอบด้วย 1.ให้สอดส่อง มองหาคนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างที่กำลังมีความทุกข์และต้องการความช่วยเหลือ โดยสามารถสังเกตพฤติกรรมง่ายๆเช่น นั่งเหม่อลอย มีสีหน้าเศร้าหมองไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนที่เคยเป็น ร้องไห้ เป็นต้น หากพบอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย 2. ให้ใส่ใจรับฟัง เพื่อให้เขาได้ระบายความทุกข์ ความในใจออกมา จะช่วยผ่อนจากหนักให้เป็นเบาได้ โดยอาจใช้ภาษากายช่วยด้วยเช่นการจับมือ หรือโอบกอด จะช่วยให้ผู้ที่มีทุกข์รู้สึกดีขึ้น และไม่เกิดความรู้สึกว่าโดดเดี่ยว และ3. คือการส่งความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่ตนเองมี เช่น น้ำดื่ม อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธีต่อไป
สำหรับวิธีการจัดการความเครียด ขอแนะนำให้ผู้ประสบภัยปฏิบัติตัวดังนี้ 1. หากิจกรรมทำตามปกติ เช่น ดูแลเก็บบ้าน 2. พูดคุยกับบุคคลใกล้ชิดหรือเพื่อนที่คุ้นเคย จะช่วยระบายความทุกข์ในใจ สบายใจขึ้น 3.ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เช่นสะบัดแขน ขา ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยผ่อนคลายขึ้น 4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และ5.ให้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้รับการช่วยเหลือ เป็นผู้ให้การช่วยเหลือคนอื่นตามศักยภาพที่มีอยู่ จะช่วยให้จิตใจดีขึ้นและเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หากทุกคนมีสภาพจิตใจดี ก็จะสามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 จะปรับตัวได้ภายในระยะเวลา 1-3 เดือน