กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กระทรวงเกษตร และสหกรณ์
กระทรวงเกษตรรุกเปิดศักราชความร่วมมือ"ท่าเรือลอสแองเจลิส-ศุลกากรสหรัฐฯ" ติวเข้มกฏระเบียบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดสหรัฐฯแก่เกษตรกร Startup SMEs –ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มุ่งเพิ่มศักยภาพการส่งออก-รักษาตลาด หลังไทยผงาดขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสหรัฐดันยอดส่งออกปี61 พุ่ง 1.3 แสนล้าน
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันถือเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ 3 ของไทยโดยในปี 2561 การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหรัฐฯสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท จากความสำคัญดังกล่าวสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ร่วมกับฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ต้องเข้าใจอะไรบ้าง (มุมมองเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ)"ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าและตรวจปล่อยสินค้าเกษตรและอาหารของสหรัฐฯรวมทั้งขั้นตอนดำเนินการของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผ่านท่าเรือลอสแอนเจลิสซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการรายย่อยตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต Startup SMEs ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่และสมาคมภาคอุตสาหกรรมจำนวน 400 คน
"สำหรับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่สหรัฐฯนำเข้าสูงสุดได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาทิ กุ้ง ปลาทูน่า ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาทิ สับปะรด ข้าว ยางพารา กุ้งสด (แช่เย็น แช่แข็ง) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด (แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง) และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น โดยการส่งออกส่วนใหญ่ผ่านทางเรือเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะท่าเรือลอสแองเจลิสและลองบีชในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งถือเป็นท่าเรือนำเข้าตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และเป็นลำดับ 9 ของโลก" นางสาวดุจเดือน กล่าว
ด้านนายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดสัมมนา "ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ต้องเข้าใจอะไรบ้าง" ไม่ได้เป็นเพียงเวทีให้ความรู้ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐฯเพียงเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯโดยตรง อาทิ ผู้แทนจากการท่าเรือนครลอสแอนเจลิส เจ้าหน้าที่ด้านศุลกากรและผู้แทนนำเข้าและส่งออกแห่งนครลอสแอนเจลิส ผู้แทนสมาคมผู้ออกของรับอนุญาต(Customs Brokers)บริษัทที่ปรึกษากฎหมายด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร(FDAImport.com) เป็นต้น ซึ่งล้วนมีประสบการณ์โดยตรง รวมทั้งมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และโอกาสของตลาดสหรัฐอเมริกาที่ยังมีศักยภาพรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของไทย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯโดยมกอช.ได้ลงนามความร่วมมือในเครือข่ายพันธมิตรฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอาหารในสถานประกอบการทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2559 โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองให้เป็นผู้ฝึกอบรม(Lead Instructor) หลักสูตรภายใต้กฎหมายความปลอดภัยอาหารของสหรัฐอเมริกา(Food Safety Modernization Act: FSMA)ในประเทศแล้วกว่า 30 คน มีจำนวนผู้ปฏิบัติที่ผ่านการรับรองแล้วถึงกว่า800คน รวมทั้งได้พัฒนากระบวนการรับรองระบบงานด้านความปลอดภัยอาหารมนุษย์และสัตว์ และเตรียมขยายขอบข่ายการให้การรับรองระบบงานให้ครอบคลุมสินค้าอื่นๆที่ส่งออกสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ(LACF)น้ำผลไม้และอาหารทะเลภายในปี2562 ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกษตรและอาหารกว่าร้อยละ90 ที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
"การจัดสัมมนาดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของทุกภาคส่วนและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตการปกป้องและรักษาตลาดตลอดจนการขยายโอกาสในการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหรัฐต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต" นายครรชิต กล่าว
ด้านนางสาวไปรยา เศวตจินดา กงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานได้ร่วมหารือกับการท่าเรือลอสแอนเจลิสอย่างใกล้ชิดในการจัดเตรียมหัวข้อการบรรยายและวางรูปแบบการสัมมนาในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เน้นเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในกระบวนการนำเข้าและตรวจปล่อยสินค้า และการเปิดคลินิกในช่วงท้ายให้ผู้ประกอบการสามารถเดินเข้ามาสอบถามข้อสงสัยและรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เนื่องจากนับเป็นครั้งแรกที่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและคำปรึกษาที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ และปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ สำนักงานมองว่าการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ทางหนึ่ง จึงคาดว่าจะขยายหัวข้อในการสัมมนาโอกาสถัดไปให้ครอบคลุมในมิติการเข้าสู่ตลาดและการทำตลาดในสินค้าเกษตรอาหารบางรายการด้วย
ส่วนนายนอร์แมน อะริกาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาการค้า การท่าเรือนครลอสแอนเจลิส กล่าวว่า ท่าเรือนครลอสแอนเจลิสมีสินค้าไทยจำนวนมาก ประกอบกับมีคนไทยอาศัยอยู่นครลอสแอนเจลิสและมีร้านอาหารไทยจำนวนมากเช่นกันซึ่งได้เลือกใช้และรับประทานสินค้าไทยหลายอย่าง ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการไทยหรือStartup SMEs ได้มีโอกาสได้ฟังข้อกำหนดระเบียบและวิธีการปฏิบัติจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นและสามารถเพิ่มศักยภาพการส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต