กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวที ทบทวนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 – 2565 มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของไทยตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การทบทวนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 สู่แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 – 2565 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ว่า ประเทศไทยได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดให้มีการทบทวนสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) รวมทั้งบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในวงกว้างอีกครั้ง โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และผู้แทนเกษตรกร ไปแล้วครั้งหนึ่ง ณ จังหวัดนครปฐม และได้ปรับเปลี่ยนชื่อ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564" เป็น "แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 - 2565" เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการจัดทำแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
"การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของไทยตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เกษตรกร และผู้บริโภค เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่เรื่องเมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์อินทรีย์ ปัจจัยการผลิต สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์และแผนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในด้านการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ การเพิ่มมูลค่าการผลิตและมูลค่าการส่งออก สินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์" นายอลงกรณ์ กล่าว