กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--เอสซีจี
ต้องยอมรับว่าวิกฤตปัญหาขยะที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ การแก้ไขจึงต้องเริ่มต้นจากตัวเรา และทุกภาคส่วนของสังคมต้องประสานความร่วมมือ ทั้งการปลูกจิตสำนึกและสร้างองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เกิดการจัดการขยะตั้งแต่น้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
"จัดการขยะ" เรื่องของทุกคนและทุกภาคส่วน
เมื่อได้ยินข่าวสัตว์ทะเลตายเพราะขยะ ใครควรจะรับผิดชอบต่อปัญหานี้ ระหว่างผู้ผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดขยะ ผู้บริโภคที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด "เราทุกคนคือขยะ" อาจเป็นบทสรุปที่กระชับและสะท้อนถึงปัญหาได้ดี ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการ เอสซีจี ได้กล่าวในงาน "SD Symposium 10 Years : Circular Economy - Collaboration for Action" ที่เอสซีจีจัดขึ้น โดยหมายความว่า ขยะเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน หากไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีขยะ "แม้แต่ลมหายใจเราก็สร้างของเสีย" ดร.สุเมธ กล่าวเสริมสิ่งที่ ดร.สุเมธ กล่าว สอดคล้องกับทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ที่เห็นว่าปัญหานี้ต้องเริ่มแก้ที่ตัวเราเอง และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
จัดการกับขยะ "จัดการกับตัวเอง"
ในช่วงของเวทีสนทนาหัวข้อ "Thailand Waste Management Way Forward" เพื่อระดมความคิดเป็นข้อเสนอ 4 แผนจัดการวิกฤตขยะให้นายกรัฐมนตรีนั้น วรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste Project ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้สร้างขยะว่า "ตื่นเช้ามา เรากินอาหารเช้า ไม่ว่าแก้วกาแฟ ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็เกิดขยะหลายชิ้นแล้ว ขยะเกิดจากการบริโภคและใช้งาน ทุกคนคือผู้บริโภครวมทั้งผู้ผลิตก็เช่นกัน" เช่นเดียวกับ ดร.จิตราภรณ์ ฟักโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนาในเวทีเดียวกันที่คิดว่า ไม่ว่าระบบการจัดการขยะจะดีแค่ไหน แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตัวบุคคลก่อน "อย่างปัญหาขยะในทะเล อยากให้คนเลิกความคิดเดิมๆ ที่ว่าทะเลกว้างใหญ่ ทิ้งขยะชิ้นเดียวคงไม่เป็นไร แต่มีคนจำนวนมากคิดแบบนั้นจริงๆ" ระยะหลังมานี้ มีข่าวการตายของสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นเต่า วาฬ โลมา หรือแม้แต่ "มาเรียม" พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย แม้จะเป็นเรื่องที่สร้างความสลดใจ แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเรื่องวิกฤตขยะในสังคม ทำให้ทุกคนตื่นตัว เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อบริโภคให้เกิดขยะน้อยที่สุด เช่น การพกแก้วน้ำดื่ม หรือการหันมาใช้ถุงผ้า เป็นต้น
ระบบการจัดการขยะต้องดี
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อลดปริมาณขยะนั้นจำเป็นต้องมีแนวร่วมที่ช่วยสนับสนุน เกี่ยวกับเรื่องนี้ วรุณ ชี้ถึงปัญหาว่า บางครั้งผู้บริโภคก็ไม่รู้ว่าจะทิ้งขยะอย่างไร หรือมีความตั้งใจจะแยกขยะ แต่ก็เจอกับระบบ "One Bin for All" หรือถังเดียวทิ้งทุกอย่าง จึงไม่สามารถแยกขยะได้จริง "มีความจำเป็นที่ต้องสร้างระบบ ก่อนที่จะไปบอกเขาว่าจะทิ้งอย่างไร และต้องแสดงให้เห็นว่าแยกขยะแล้วเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" วรุณกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนา 700 คน ซึ่งร้อยละ 77 เห็นว่า การจัดทำระบบการจัดเก็บขยะอย่างครบวงจร เช่น การใช้สัญลักษณ์สี และการระบุวัน-เวลาจัดเก็บตามประเภทขยะ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดเก็บขยะที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ในการเสวนา เคน ทาคาฮาชิ จากบริษัท JFE Engineering ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการขยะของเมืองโยกาฮามา ประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มจากการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการแยกขยะไม่กี่ชนิด จนนำไปสู่การแยกขยะอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันสามารถลดปริมาณขยะได้ถึงร้อยละ 40 แม้ว่าจะมีประชากรในเมืองสูงขึ้น วรุณมองว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคที่เคร่งครัดเรื่องการแยกและลดขยะ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือใดๆ สำหรับกลุ่มหลังนั้นคงต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น
กฎหมายควบคุมต้องศักดิ์สิทธิ์
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษชี้ว่า ขยะในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีขยะกว่า 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากปี 2560 ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองและถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งไม่เพียงแต่ขยะมูลฝอยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงของชิ้นใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ด้วย สรรเสริญ เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานระบบโทรมาตร สำนักงานระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยภาพขยะแต่ละวันในคลองเปรมประชากร พร้อมทวีตข้อความว่า "ขยะชิ้นใหญ่ๆ มักถูกโยนทิ้งลงคลองโดยตรง ทีมงานสำนักงานระบายน้ำต้องใช้เรือตามเก็บขยะเช่นนี้ทุกๆ วัน" การจัดการขยะจึงเป็นเรื่องยาก เพราะพนักงานมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ด้าน ดร.จิตราภรณ์ เสนอแนะว่า การใช้กฎหมายเด็ดขาดในวงกว้างอาจเป็นไปได้ยาก อาจจะเริ่มเข้มงวดการจับจริง-ปรับจริงกับชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาขยะที่ลงสู่ทะเล ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนา 700 คน ที่ร้อยละ 47 เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งขยะอย่างเคร่งครัด เป็นการจัดการกับขยะได้ดีที่สุด
เปลี่ยนขยะเป็นวัสดุมีมูลค่า
นอกจากมาตรการและบทลงโทษแล้ว การสร้างคุณค่าให้ขยะโดยมีผลตอบแทนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ กมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เราต้องมองขยะว่าเป็นวัสดุ เช่น ให้มองถุงและฟิล์มพลาสติกว่าเป็นวัสดุ เมื่อมองเช่นนี้ก็ทำให้หาจุดที่ไปต่อได้" และกมลแนะว่า ควรเริ่มจากการคัดแยกขยะที่ง่ายก่อนเพื่อให้สะดวกกับผู้บริโภค แม้จะยังทำไม่ได้ถึงร้อยละ 100 แต่สามารถเริ่มต้นได้เลยกับวัสดุบางชนิด และค่อยๆ ต่อยอดเพิ่มประเภทในภายหลัง นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มักสร้างปัญหาในการจัดการ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน โดยอาจมีการกำหนดมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด หรือหันมาใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายหรือนำมาหมุนเวียนได้แทน โดยต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกประเภทควบคู่ไปด้วยด้านวรกิจ เมืองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด เห็นด้วยกับการหาแนวร่วมในการสร้างมูลค่าขยะในระดับชุมชน "หากมีการรณรงค์ให้เห็นว่าขยะมีคุณค่า ชาวบ้านก็จะให้ความสำคัญในการแยกขยะ แต่หากทุกคนเลือกผลักภาระให้ภาครัฐ รัฐก็แบกไม่ไหวหรอก"
จัดการขยะแบบ 4.0
ในยุค 4.0 มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยระบบจัดการขยะ เช่นเดียวกับบริษัทฟาร์มดีที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชันจัดการขยะ โดยใช้แอปฯ เป็นสมุดบัญชีสะสมแต้มสำหรับให้ผลตอบแทนจูงใจผู้ทิ้งขยะ และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการให้เห็นราคากลางของวัสดุ รวมถึงบอกปริมาณของแต่ละวัสดุที่ต้องจัดเก็บอย่างชัดเจน "แอปพลิเคชันสามารถบอกจุดหมายที่ตั้ง และปริมาณขยะ ทำให้สามารถบริหารค่าขนส่งจัดการได้ หรือจับคู่ให้ดีมานด์กับซัพพลายเจอกันได้เลย" วรกิจกล่าวเสริม ด้าน บุรินทร์ ตั้งศิลปโอฬาร ผู้จัดการงานพัฒนาโครงการ Suez (South East Asia) มองว่า ความเข้าใจเรื่องการรีไซเคิลในไทยยังไม่ดีพอ และวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลยังไม่ได้คุณภาพทำให้ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเช่นเดียวกับสถิติของกรมควบคุมมลพิษที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาการรีไซเคิลได้อีกมาก เพราะมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกนำไปรีไซเคิล
ปลูกฝังจิตสำนึก สร้างองค์ความรู้
การลดปริมาณขยะในระยะยาวนั้น ต้องให้ความรู้ทุกระดับ ซึ่ง วรุณ แห่ง Chula Zero Waste Project เห็นว่าควรผลักดันเรื่องการจัดการขยะด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าเป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษา ควบคู่ไปกับการจัดการด้านอื่นๆ รวมทั้งเสริมความรู้ในระดับครัวเรือนให้สามารถจัดการกับขยะเปียกได้อย่างมีประสิทธิภาพ "เรามีขยะเศษอาหารเยอะ วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดการในแต่ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพ" วรุณกล่าวเสริมการให้ความรู้ต้องเกิดขึ้นกับทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้คัดแยกขยะ ผู้รีไซเคิล เพราะทุกขั้นตอนมีความเกี่ยวเนื่องกัน และการรณรงค์ยังต้องทำในทุกภาคส่วนของสังคม เช่น สถานที่ราชการ หรือสถานศึกษา แต่สิ่งที่สามารถลงมือทำได้เลยคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเท่าที่จำเป็น รวมถึงการทิ้งขยะให้เป็นที่ และการแยกขยะให้ถูกต้อง
นายกฯ รับ 4 มาตรการแก้วิกฤตขยะ
การระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ นำไปสู่การนำเสนอแผนจัดการปัญหาวิกฤตขยะต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย 4 มาตรการหลัก คือ ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิลและมีส่วนรับผิดชอบจัดการซากสินค้า รณรงค์สร้างความรู้ให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง การระดมสมองในครั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ที่แต่ละส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้จัดเก็บ ผู้รีไซเคิล สื่อสารมวลชน สถานศึกษา หรือแม้แต่ภาครัฐ ล้วนมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด จะเกิดผลสำเร็จและความยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยรับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเราคือขยะ เราต้องจัดการกับตัวเราก่อนจึงไปจัดการกับขยะรอบๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมของงาน SD Symposium ได้ที่ http://bit.ly/31X1QGd หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel