กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำและมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน ว่า ในวันนี้ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ โดยมีการ VDO Conference เพื่อติดตามสถานการณ์กับสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ทั้งในส่วนของภัยแล้ง อุทกภัย และการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการรายงานขณะนี้มีปริมาณฝนตกลดน้อยลง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้คือการรับมวลน้ำที่มีการสะสมตั้งแต่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งสถานการณ์โดยรวมกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก คาดว่า 2 - 3 วันนี้จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อีกทั้งได้สั่งการให้เตรียมระวังในทุกพื้นที่ ทั้งด้านบุคคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชม. โดยพื้นที่ที่จะต้องเตรียมรับมวลน้ำคือจังหวัดยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ที่น้ำชีจะไหลมารวมกัน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการโดยการผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขง และทำการหน่วงน้ำให้ลงพื้นที่นี้น้อยที่สุด ถ้าสามารถนำน้ำไปลงพื้นที่ในทุ่งหรือพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ได้ ก็จะเป็นการบริหารจัดที่ไม่ทำให้เสียเปล่า ซึ่งขณะนี้ทางกรมชลประทานก็กำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าสำรวจความเสียหายหลังจากน้ำลดแล้ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อรัฐบาลจะได้ประเมินความเสียหายและมีการชดเชยต่อไป ขณะนี้คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง 2,000 - 3,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในขณะนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยว หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลาด้วย
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ และทุ่งทะเลหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้ในแล้งหน้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย โดยพื้นที่ที่จะมาแหล่งรองรับน้ำนี้รัฐบาลจะหาวิธีการเยี่ยมยา เช่น จ่ายค่าเช่า เป็นต้น ให้พื้นที่เหล่านั้นได้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย และจะมีการส่งเสริมอาชีพ อาจมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทั่วประเทศในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำท่าในลำน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,401 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 29,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 62 เวลา 08.00 น.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ 1,399 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 824 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร และนครพนม การช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศ แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 83 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุก 6 คัน และกาลักน้ำ 20 แถว