กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม
ภาพสะท้อนความยากลำบากของผู้คนในการหาเลี้ยงชีวิตและครอบครัวยังคงมีให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มสตรีด้อยโอกาสที่หลายคนเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หลายคนหารายได้เพียงคนเดียวเพื่อจุนเจืออีกหลายปากท้อง อันเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในเครือ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ที่มุ่งมั่นในการยกระดับความเป็นอยู่ของสตรีด้อยโอกาสในสังคมไทยให้ดีขึ้น โมเดลในการแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ "รักการออม" เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ LPC ต้องการจะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับพนักงานอย่างยั่งยืน
นางสาวสุรัสวดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ LPC เล่าว่า "ด้วยภาระทางครอบครัวหลายประการที่พนักงานบริการชุมชน LPC ต้องเผชิญอยู่ บริษัทจึงมีแนวทางเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพวกเขา ตั้งแต่การจัดให้มีเงินกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การให้ทุนการศึกษาบุตร หรือการหาข้าวในราคาต้นทุนให้ แต่อย่างไรก็ตาม เรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราอยากให้เขาสามารถแก้ปัญหาและยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งดีกว่าไหมหากพวกเขาจะมีเงินออม เพื่อที่อย่างน้อยเอาไว้แก้ปัญหาในยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ บริษัทจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของภูมิคุ้มกันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ให้กับคนไทยมาเป็นแนวทาง"
โดยบริษัทได้ศึกษาโมเดลการออมเงินของกองทุนการออมแห่งชาติ และนำมาปรับให้เป็นรูปแบบของ LPC โดยการให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้พนักงานอยากออม ส่วนเงินที่นำมาออมนั้นบริษัทไม่ได้จำกัดการออม 100 บาทก็ออมได้ โดย LPC จะให้เงินสมทบเดือนละ 50 บาท จ่ายปีละครั้ง ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เริ่มโครงการมีพนักงานเข้าร่วมเพียง 200 คน บริษัทจึงต้องใช้การพูดคุย สื่อสาร จูงใจ จนปัจจุบันมีพนักงานเข้าร่วมกว่า 500 คน หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีพนักงานเข้าร่วมโครงการ "รักการออม" มากขึ้นในทุกๆ ปี
นางสาวจุรี สุดดำ หนึ่งในพนักงานบริการชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ "รักการออม" กล่าวด้วยแววตาที่เป็นประกายว่า หลังจากที่ทราบข่าวโครงการนี้จากหัวหน้างาน ถึงแม้ตนเองจะมีภาระค่าใช้จ่ายแต่ก็พยายามแบ่งเงินมาออมเดือนละ 500 บาท ซึ่งตอนนี้ฝากมาครบหนึ่งปีและได้รับเงินสมทบแล้ว แต่ก็ตั้งใจว่าจะไม่ถอนมาใช้ เพราะอยากเก็บไว้เป็นเงินก้อนหลังเกษียณ จุรียังบอกอีกว่า ตนรู้สึกว่า LPC เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของเธอ เพราะไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เธอหรือเพื่อนพนักงานมีเรื่องเดือดร้อน บริษัทจะดูแลด้วยความห่วงใยเสมอ เธอจึงอยากจะขอบคุณผู้บริหารทุกๆ คน และตอบแทนด้วยการตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ในทุกๆ วัน
แม้เส้นทางสร้างการออมของพนักงานบริการชุมชน LPC ยังคงต้องใช้เวลาเป็นองค์ประกอบ ทั้งเวลาที่ต้องใช้ในการค่อยๆ สะสางปัญหาภาระหนี้สิน และเวลาที่จะต้องฝึกนิสัยการออม แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่พวกเขาเหล่านี้สามารถสร้างความแข็งแรงทางการเงินได้แล้ว ความตั้งใจที่ LPC ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงานบริการชุมชนลุมพินี ด้วยการสร้างรายได้ สร้างศักดิ์ศรี สร้างโอกาส และสร้างความสุข ให้กับพวกเขา ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อมในที่สุด