กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น?" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.67 ระบุว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 29.21 ระบุว่า สินค้าแพง รายได้ต่ำ ร้อยละ 24.13 ระบุว่า เป็นผลกระทบจากภาวการณ์เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 22.54 ระบุว่า นักการเมืองไม่สนใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ร้อยละ 20.79 ระบุว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 13.65 ระบุว่า เป็นผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ร้อยละ 9.60 ระบุว่า ประชาชนไม่รู้จักพอเพียง ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ร้อยละ 8.49 ระบุว่า ส่งออกไม่ค่อยได้ ร้อยละ 6.03 ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ร้อยละ 3.73 ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ดี ร้อยละ 2.14 ระบุว่า เศรษฐกิจไม่ดี เป็นแค่ความรู้สึกของประชาชนเอง ร้อยละ 1.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 1.43 ระบุว่า เป็นการปั่นกระแสให้ประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี และร้อยละ 0.16 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.14 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญเลย ขณะที่บางส่วนระบุว่า แก้ไปก็ไม่มีประโยชน์แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล และขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 22.38 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะ ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลน่าจะสนใจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นการดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรัฐบาลมากกว่า และเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่อยู่ที่ตัวบุคคลกับนิสัยการใช้จ่ายของคนไทยมากกว่า ร้อยละ 16.43 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะ คิดว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 4.13 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 2.78 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.89 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.64 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.73 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.65 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.35 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.22 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.59 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.54 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.59 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.06 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.40 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.57 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.32 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.71 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.98 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.94 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.97 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 29.44 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.43 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.49 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.45 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.92 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.08 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.03 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.71 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.06 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.56 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.59 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.70 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 17.22 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.81 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.54 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.05 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.38 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.44 ไม่ระบุรายได้