กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง เตรียมรับมือปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งแจ้งเตือนหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำให้ติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามข้อมูลปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า ปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ ประกอบกับสำนักงานชลประทานที่ 12 แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2562 เป็นต้นไป คาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมในเกณฑ์ระหว่าง 900 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 0.30 – 0.80 เมตร บริเวณตำบลบางกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี คลองชัยนาท – ป่าสัก และคลองชัยนาท - อยุธยา รวม 7 จังหวัด ดังนี้ อุทัยธานี (อำเภอเมืองอุทัยธานี) ลพบุรี (อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมืองลพบุรี) ชัยนาท (อำเภอสรรพยา) สิงห์บุรี (อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี) อ่างทอง (อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอวิเศษชัยชาญ) พระนครศรีอยุธยา (อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา) สุพรรณบุรี (อำเภอบางปลาม้า) รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงาน บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำให้ติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป