กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในการประชุมหารือกับกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกร จากจังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา อ่างทอง จันทบุรี เพชรบุรี และอุทัยธานี นำโดยนางสาวศศิรัศมิ์ พันธ์พลกลาง โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ) ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (นายสุธัญญ์ ฤทธิขาบ) ผู้แทนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมชี้แจง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการชี้แจงตามข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ คือ 1) หนี้สหกรณ์การเกษตรที่ฟ้องและกำลังดำเนินคดี ขอให้หยุดดำเนินคดีจนกว่ากองทุนฟื้นฟูฯ จะเข้ามาซื้อหนี้ 2) ขอให้เป็นคนกลางในการเจรจาหนี้สหกรณ์การเกษตร กรณีวัตถุประสงค์เข้าหลักเกณฑ์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถซื้อหนี้ได้ 3) ขอจำหน่ายหนี้สูญตามกฎกระทรวงการคลังกำหนด (ข้อ 186) กรณีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนด 4) หนี้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินคดี ขอให้ชะลอไว้จนกว่าจะได้รับการจัดการหนี้จากกองทุนฟื้นฟูฯ 5) กรณีหนี้ค้างชำระให้ชะลอทุกกรณี (หนี้ ธ.ก.ส.) 6) กรณีลูกหนี้เสียชีวิตห้ามไม่ให้หักเงินฌาปณกิจ (ลูกหนี้ ธ.ก.ส.) และ 7) กรณีขอกู้เงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน มีการประเมินล่าช้าและไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของกองทุนหมุนเวียนฯ
ในการนี้ เลขานุการ รมว.กษ. ชี้แจงว่า กรณีข้อ 1 และข้อ 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ชะลอการดำเนินคดีจนถึงเดือนธันวาคม 2562 กรณีข้อ 3 – 5 เห็นควรให้ผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. นำกฎเกณฑ์ ระเบียบ มาชี้แจงให้เกษตรกรทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง กรณีข้อ 6 ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้เพื่อความเป็นธรรมแก่เกษตรกร และข้อ 7 ให้กองทุนหมุนเวียนฯ และ ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการประเมินเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วย 1) นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับมอบหมาย 3) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4) ผู้แทน ธ.ก.ส. 5) ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย 6) ผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) 7) ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาค ภูมิภาคละ 2 คน 8) สำนักงาน กฟก. กรรมการและเลขานุการ และ 9) ผู้อำนวยการ สกร. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป