กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ขึ้นชื่อว่า "มะเร็งเต้านม" เป็นภัยร้ายอันดับ 1 ที่ผู้หญิงไทยวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เมื่อตรวจพบว่าเป็นในระยะที่ 2 – 4 ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของโรคฯ จึงได้จัดการประชุมมะเร็งเต้านมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4th Annual South East Asia Breast Cancer Symposium 2019: SEABCS) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีบรรยายให้ความรู้ ยกระดับการพัฒนาการจัดการ เพื่อเข้าถึงการบำบัดรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วย พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ดูแลผู้ป่วยเพื่อยืดอายุและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย ณ โรงแรมเอเชีย โฮเทล กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา
ศ.พญ. อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นโรคมะเร็ง อันดับที่ 1 ในผู้หญิงไทย ทั้งยังมีเคสเกิดใหม่จากโรคมะเร็งเต้านม โดยประมาณ 30 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยสูงถึง 10 คนต่อวัน ผู้หญิงไทยที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านได้ทุกคน และในช่วงกลุ่มที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งแพทย์หญิงยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สาเหตุที่การตรวจโรคในระยะที่ 0 – 1 ไม่พบมากนัก สืบเนื่องมาจากวิธีการคัดกรองหรือตรวจโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นนั้น จะต้องอาศัยการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ และการทำเมมโมแกรม เพื่อตรวจโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งโดยส่วนมากจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2 ถึง ระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะลุกลามและแพร่กระจายของโรคแล้ว และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1. เมื่อเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 0 – 3 แล้วมีการรักษาจนหาย จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรจะต้องทำการตรวจการเกิดโรคซ้ำอย่างใกล้ชิดในระยะเวลา 2 ปีแรก และควรตรวจตามแพทย์นัดหมายใน 5 ปี และ 10 ปีเป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคซ้ำ 2. ในบางกรณีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วจะมีความตื่นตระหนกและกลัวการเกิดโรคซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแพทย์ขอแนะนำให้ อยู่อย่างระวัง แต่ไม่ระแวง ด้วยการพบแพทย์ตามที่นัดหมาย การหมั่นตรวจเช็คร่างกายหรือบริเวณที่เคยเกิดโรคมะเร็งเต้านม รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคฯ 3. เมื่อมีการเกิดโรคซ้ำ หรือ มีอาการเสี่ยงเกิดโรคซ้ำแล้ว ไม่ไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา แต่ปล่อยให้อาการลุกลาม เพราะกลัวการรักษาและผลข้างเคียงจากการรักษา"
สำหรับโรคมะเร็งเต้านม ระยะที่ 4 หรือ ระยะลุกลามและแพร่กระจาย คือระยะที่เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะภายในส่วนอื่นทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ โดยการแพร่กระจายโรคที่ถือเป็นกรณีเร่งด่วนทางการแพทย์และต้องได้รับการรักษาโดยด่วน ได้แก่ มะเร็งเต้านมที่มีการลุกลามไปเข้าสู่สมอง กระดูกไปจนถึงบริเวณไขสันหลัง หรือเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และต่อเนื่องจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและยืดอายุของผู้ป่วยให้อยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข
"สุดท้ายนี้ อยากให้ประชาชนหมั่นเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรค และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนจะถึงระยะลุกลาม และในส่วนของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะลุกลามและแพร่กระจาย อยากจะขอความร่วมมือในการหมั่นพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี" ศ. พญ. อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ กล่าวปิดท้าย