กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบาย เกี่ยวกับการดูแลป้องกันรักษาป่าชายเลน โดยให้มุ่งปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย กับกลุ่มนายทุน ที่ยึดครองที่ดินโดยผิดกฎหมายเป็นหลัก เพื่อนำพื้นที่กลับมาฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และให้หาแนวทางมาตรการวิธีการเครื่องมือเทคโนโลยีมาใช้ในการลาดตระเวนเพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นที่ป่าชายเลนในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีสถานการณ์ทรงตัว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากในห้วงปี พ.ศ. 2557 ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายหยุดยั้งการทำลายและฟื้นฟูป่าชายเลน โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จนทำให้ได้ป่าชายเลนคืนกลับมาได้ถึง 52,000 ไร่ ดำเนินการรื้อถอนฟื้นฟูป่าชายเลนได้ 23,000 ไร่
นายรัชชัย พรพา หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว กล่าวเสริมว่า "ในส่วนของการบุกรุกเพิ่มเติมนั้น ยอมรับว่าทางเราไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกตารางนิ้ว แต่มีความพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ อาทิเช่น การใช้โดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ป่าชายเลน ทั้งแปลงคดีที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุก พร้อมทั้งนำโปรแกรมประยุกต์ PIX4D มาจัดการภาพถ่าย ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ ซึ่งทำให้สามารถระบุพิกัดตำแหน่งของพื้นที่นั้นๆได้ พร้อมกันนี้ยังมีโปรแกรม ECOGNITION ในการจำแนกวิเคราะห์ประเภทพื้นที่ว่ามีความเป็นป่าหรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานต่อไป ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบรายงานผลการปฏิบัติงานด้านทรัพยากร
ป่าชายเลน (Mangrove Information System : MgIS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Mangrove 4.0) โดยระบบช่วยจัดเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทั้งคดีความที่เกิดขึ้น ฐานข้อมูลคดีอาญา ฐานข้อมูลป่าชายเลน ฐานข้อมูลปลูกป่าและเพาะชำกล้าไม้ แต่ส่วนใหญ่
จะเน้นเป็นฐานข้อมูลเก็บสารบบทางคดี เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีความ หากไม่มีความคืบหน้าใด ระบบจะมีการแจ้งเตือน ขณะเดียวกัน ยังมีการตรวจสอบพื้นที่คดีในรูปแบบไฟล์ KML หรือ KMZ ร่วมกับโปรแกรม Google Earth ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่และนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการได้ โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถ Monitor ผ่านทางศูนย์อำนวยการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น เป็นทิศทางสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศไทยแลนด์ 4.0 และตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการ ทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติ พ.ศ.2557 โดยแอพพลิเคชันเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวก ควบคุมการทำงาน รวมถึงติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาป่าชายเลน ป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยบางครั้งแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่เลือกประยุกต์ใช้ให้ถูกต้อง และนำมาเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติงานให้ได้
ปัจจุบันกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มีแนวคิดในการพัฒนาภารกิจงานลาดตระเวนให้ตอบโจทย์สะดวกต่อการใช้งานผ่านทาง Smartphone และ Tablet ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาออกแบบรูปแบบแอพพลิเคชั่น "DMCR Patrol" สำหรับการลาดตระเวนเพื่อการป้องกันรักษาป่าชายเลน ให้ครอบคลุมทั้งการลาดตระเวนทางภาคพื้นดินและการบินสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ โดยแอพพลิเคชันนี้ จะใช้เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะทำงานของระบบคล้ายเว็ปแอพพลิเคชัน (Web Application) โดยสามารถกำหนดเป้าหมายพื้นที่เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลาย เช่น พื้นที่ใกล้แหล่งชุมชน พื้นที่ที่มีการบุกรุกบ่อยครั้ง พื้นที่ใกล้เส้นทางการคมนาคม และพื้นที่เกิดคดี พร้อมทั้งกำหนดเส้นทางในการลาดตระเวนให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการลาดตระเวนเกิดขึ้น ก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าใช้งานและบันทึกข้อมูลผ่านแอพฯ โดยผู้ที่กำลังใช้งานจะปรากฏอยู่บนจอของศูนย์อำนวยการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของผู้ควบคุมดูแลระบบ แต่การลาดตระเวน จะต้องบันทึกการสำรวจและลาดตระเวน เช่น การแทร็ก (Track) สามารถบันทึกภาพถ่าย และ Live วิดีโอได้ โดยจะเป็นการเก็บทั้งในเชิงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมถึงรายละเอียดในการประชุมชี้แจงต่อราษฏรก็สามารถจัดส่งรายงานเป็นรีพอร์ทเข้ามาผ่านแอพพลิเคชันได้ ทั้งหมดจะช่วยให้มีข้อมูลการส่งเป็นแบบเรียลไทม์ เช่น ผู้ทำการลาดตระเวนในแต่ละวัน อยู่บริเวณสถานีใดก็จะปรากฏอยู่บนหน้าจอของส่วนกลางหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานและผู้บริหาร ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
"อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจต่อภาคประชาชน ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มหรือองค์กร ตลอดจนชี้แจงข้อกฎหมายให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบยังคงเป็นสิ่งสำคัญ การพบปะพูดคุย รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่าอันเป็นสมบัติของแผ่นดินร่วมกัน หากพื้นที่ป่าชายเลนได้รับการปลูกป่าฟื้นฟูแล้วนั้น จะได้รับผลประโยชน์กลับมาอย่างมหาศาลทั้งในเชิงเศรษฐกิจของชุมชนและระบบนิเวศป่าชายเลนที่ดีขึ้นดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อันจะทำให้ทรัพยากรป่าชายเลนได้รับการดูแลรักษาและอยู่กับพวกเขาอย่างยั่งยืนต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน" นายรัชชัย กล่าวทิ้งท้าย