กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2562 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดรอบการทำนาในฤดูนาปรัง สร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว และสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การเพาะปลูกพืชอื่นในพื้นที่นา โดยดำเนินการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ ตุลาคม 2561 - มิถุนายน 2562 พื้นที่เป้าหมาย 53 จังหวัด รวม 13,500 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เป้าหมาย 200,000 ไร่
ผลการติดตามการดำเนินโครงการ พบว่า มีเกษตรกรที่ร่วมโครงการและปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นใน 48 จังหวัด (ร้อยละ 91 ของเป้าหมาย) จำนวน 21,919 ครัวเรือน (ร้อยละ 162 ของเป้าหมาย) พื้นที่ 162,763 ไร่ (ร้อยละ 81 ของเป้าหมาย) ครอบคลุมพื้นที่นา ทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ โดยพบว่า เกษตรกรร้อยละ 78 เข้าร่วมโครงการในปี 2560 - 2561 และปรับเปลี่ยนการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนเกษตรกรร้อยละ 22 เป็นเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นปีแรก โดยมีพื้นที่เฉลี่ยครัวเรือนละ 7.25 ไร่ ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนการผลิตเฉลี่ย 7,250 บาท/ครัวเรือน
จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 320 ราย ในพื้นที่ 18 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี ปทุมธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี) ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2562 พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตในโครงการแล้ว โดยพืชที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ได้แก่ ถั่วเขียว พืชผัก ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง พืชอื่นๆ (เช่น แตงโม แตงไทย) และข้าวโพดฝักอ่อน ตามลำดับ ซึ่งภายหลังการจำหน่ายผลผลิตเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 4,205 บาท/ไร่ สูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังถึง 2,700 บาท/ไร่
ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการในระดับมาก โดยร้อยละ 89 มีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการในปีถัดไปอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่จูงใจให้เกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังมาปลูกพืชอื่นทดแทนมากที่สุด คือ การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ รองลงมาคือ การมีปริมาณน้ำเพียงพอ รายได้หรือผลตอบแทนที่ได้รับสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม พบว่า มีเกษตรกรร้อยละ 48 ประสบปัญหาด้านราคาผลผลิตต่ำ ดังนั้น การดำเนินโครงการในระยะต่อไป ควรมีมาตรการในการบริหารจัดการผลผลิตควบคู่กับการปรับเปลี่ยนปลูกพืชเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว