กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น
หลังการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ประเด็นที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) หรือ "พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์" ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีผลให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเปิดเผยข้อมูลบัญชีของผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ซึ่งจะส่งผลกับผู้ค้าออนไลน์ทั้งในรูปแบบนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
นี่คือที่มาของกระแสการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ที่ผู้ค้าทั้งหลายต่างตื่นตัว ซึ่งเรื่องนี้ "คุณป้อม" ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท TARAD Group และนักลงทุนบริษัท Startup ได้ให้เทคนิค และข้อคิดการวางแผนภาษีโดยเฉพาะธุรกิจการขายของออนไลน์ว่า ทำอย่างไรให้เสียภาษีได้ถูกต้อง ไว้ในรายการ SME Clinic Influencer อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า :
"เมื่อคุณมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ ยกเว้นจะมีรายได้ต่ำกว่าปีละ150,000 บาท แต่หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษี โดยถ้าเป็นนิติบุคคล ต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม และแม้จะเป็นบุคคลธรรมดา หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ต้องเสียภาษี...
...ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงมาก สิ่งที่ผมแนะนำคือ คุณอาจต้องจดทะเบียนเป็นบริษัท เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบุคคลธรรมดา และบอกได้เลยว่า สรรพากรยุคนี้ทันสมัยมาก ข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็น Big Data ธุรกรรมการเงินไม่ใช่ความลับอีกต่อไปและข้อมูลเหล่านี้สรรพากรสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และถ้าหากตรวจพบภายหลังว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี โดนปรับหนักแน่นอน"
แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง "สำหรับธุรกิจการค้าออนไลน์ วิธีการคือ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้ ต้องทำการจัดเก็บข้อมูลว่าผู้ซื้อคุณเป็นใคร ขอหนังสือรับรองบริษัท เลขบัญชีผู้เสียภาษี ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ให้ขอสำเนาบัตรประชาชน เพื่อให้รู้ว่าเรามีรายได้จากใคร และทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนภาษี เสียภาษี และส่งข้อมูลให้กับภาครัฐ เป็นเรื่องง่ายขึ้น"
อย่างไรก็ตามหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคล หรือบุคลธรรมดาก็มีภาระภาษี และต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร และนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน ฟังดูอาจจะยุ่งยาก แต่ไม่ยาก เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือ วิธีการ และผู้ให้บริการที่เข้ามาช่วยจัดการภาษีอยู่มาก ซึ่งหากคุณเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่ต้องเสียคือ 30 % ของเงินได้ หากไม่วางแผน อาจต้องจ่ายเงินจำนวนไม่น้อย
"แต่ไม่ต้องตกใจ ทางออกของคุณคือ การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งภาษีสูงสุดที่คุณจะต้องเสียคือประมาณ 20% ของเงินได้เท่านั้นเอง"
คุณภาวุธ กล่าวอีกว่า "ปัจจุบันเรามีเครื่องมือต่างๆ บนโลกออนไลน์ ที่จะช่วยวางแผนภาษี ไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทบัญชี เช่น ซอฟต์แวร์ฟรี ซึ่งใช้ไม่ยาก หากทำไม่เป็นจริง ๆ ให้ลองปรึกษาบริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่แพงมาก บางแห่งมีบริการให้คนมาทำบัญชีภาษีแค่เดือนละพันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้คุณทำบัญชี และวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องอีกด้วย...
...และอย่างที่หลายท่านทราบดีว่า ภาษี e-Payment หรือ "พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์" ได้มีการประกาศใช้แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญคือ เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีคุณ ทุกบัญชีรวมกันในหนึ่งธนาคารเกิน 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินโอนรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ซึ่งธนาคารมีหน้าที่นำส่งข้อมูลธุรกรรมการเงินให้กับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบการจัดเก็บภาษีต่อไป
การหลบเลี่ยง หลีกภาษีในปัจจุบันทำได้ยากขึ้น หากคุณทำธุรกิจออนไลน์ และมีการโอนเงินเข้าบัญชีมาอย่างต่อเนื่องเกิน 400 ครั้งต่อปี คำแนะนำ คือวางแผนภาษีให้ดี หรือไปจดทะเบียนเป็นบริษัทเลยจะปลอดภัยมากกว่า"
คุณภาวุธ ยังแนะนำบอกวิธีวางแผนภาษีให้ แต่เพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ขายของออนไลน์ สามารถขอคำปรึกษาสำนักงานบัญชีที่อยู่ใกล้ๆ ตัวได้จากการ 'ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต' ซึ่งมีบริการให้คำปรึกษาฟรี โดยเราให้ข้อมูลยอดขาย รายได้ ค่าใช้จ่าย บริษัทบัญชีจะบอกวิธีวางแผนภาษีให้ ถ้าไม่มั่นใจ ก็สามารถขอคำปรึกษาจากสำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ใกล้บ้านได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และไม่ต้องกลัว เรื่องภาษี หากวางแผนดีๆ จะเสียน้อยมาก แล้วคุณจะทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ
อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=xj66o67a1GM
การจัดการภาษีอย่างไรให้ถูกต้องสำหรับธุรกิจออนไลน์