กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
WWF และองค์กรเครือข่ายฯ เผยความคืบหน้าหลังปล่อยวัวแดงกลับคืนป่า ณ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นครั้งที่ 3 ชี้อัตราการอยู่รอด 100% ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 15 ตัว ยกเป็นความสำเร็จของงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน
11 กันยายน 2562 – เป็นเวลากว่า 1 ปี หลังจากการปล่อยวัวแดงครั้งล่าสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดย WWF-ประเทศไทยทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายอาทิ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ นำโดยนายเสรี นาคบุญ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ, หน่วยสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์รวมถึงชุมชน ท้องถิ่น อาทิ เครือข่ายผู้พิทักษ์วัวแดงได้ผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งเพื่อฟื้นฟูประชากรวัวแดงสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระอีกครั้งหลังจากที่ไม่มีปรากฏวัวแดงอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานกว่า 30 ปี
นายโรเบิร์ต สไตน์เมทช์ นักชีววิทยาสายงานอนุรักษ์อาวุโส องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่าว่าโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรเครือข่ายนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และดำเนินการปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่าแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2561 โดย WWF ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พร้อมส่งมอบชุดปลอกคอเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมจำนวน 6 ชุด เพื่อติดตามการเดินทางของวัวแดงและเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยอย่างต่อเนื่องจากการสำรวจพบว่าวัวแดงทั้งหมดที่ปล่อยตั้งแต่ริเริ่มโครงการมีอัตราการอยู่รอด 100% และวัวแดงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง โดยข้อมูลล่าสุดเผยว่าเจ้าหน้าที่สำรวจพบการให้กำเนิดลูกรวมทั้งหมด 6 ตัว
จากวัวแดงชุดแรกที่ถูกปล่อย "ถือเป็นเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากวัวแดงมีสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอด และสามารถหาอาหารเองได้ เราจึงไม่พบปัญหาในการหาอาหารกินเองเมื่อถูกปล่อยสู่ป่างานนี้ถือเป็นความสำเร็จจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ และองค์กรเครือข่ายฯ ทำให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปัจจุบันมีประชากรวัวแดงราว 15 ตัว จากที่ไม่เคยมีอาศัยอยู่มากกว่า 30 ปี"
นักชีววิทยาสายงานอนุรักษ์อาวุโสจาก WWF ประเทศไทยเล่าเพิ่มเติมว่าจากการติดตามการเดินทางของวัวแดงผ่านปลอกคอเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมพบว่า น้ำทอง หนึ่งในวัวแดงตัวผู้ที่ถูกปล่อยชุดล่าสุด ใช้พื้นที่เดินสำรวจกว้างที่สุดราว 80 ตารางกิโลเมตร และเดินทางแยกออกจากวัวแดงฝูงอื่น ๆ ไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจ เพราะการที่น้ำทองใช้พื้นที่เดินสำรวจเป็นบริเวณกว้างแต่ยังปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงแนวร่วมของชุมชนที่มุ่งจะฟื้นคืนประชากรวัวแดงด้วยการงดเว้นการล่าสัตว์และปล่อยให้วัวแดงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ
"เนื่องจากการที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานานจึงได้รับรู้ว่าเมื่อก่อนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีประชากรวัวแดงอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากวัวแดงมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำจึงถูกล่าได้ง่าย จนกระทั่งมีรายงานครั้งสุดท้ายว่าในประเทศไทยมีวัวแดงเหลือน้อยกว่า 400 ตัว และยังเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ เมื่อชาวบ้านเห็นถึงวิกฤตการณ์วัวแดงจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อฟื้นคืนประชากรวัวแดงขึ้นอีกครั้ง โดยในวันปล่อยวัวแดงในแต่ละปีจะมีชาวบ้านนับพันคนมาร่วมกิจกรรม ซึ่งนับเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานอนุรักษ์ที่ทำให้เราได้เห็นความร่วมมือที่เข้มแข็งจากชาวบ้าน"
นักวิชาการจาก WWF ประเทศไทยกล่าวแสดงความกังวลในเรื่องของสภาวะเลือดชิดจากการผสมพันธุ์ของวัวแดงที่มาจากการเลี้ยงก่อนปล่อยคืนสู่ป่า โดยการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดอาจทำให้สายพันธุ์อ่อนแอและการเพิ่มประชากรตามเป้าหมายทำได้ยากขึ้น "ความสำเร็จในระยะยาวคืออยากให้มีวัวแดงจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่ร่วมกับวัวแดงที่เราปล่อยในพื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นการเอาเลือดใหม่เข้ามา จะได้ไม่มีปัญหาเลือดชิด" โรเบิร์ต สไตน์เมทช์กล่าว โดยหากประสบความสำเร็จตามแผนโครงการนี้จะเป็นการฟื้นคืนประชากรวัวแดงในธรรมชาติขึ้นอีกครั้ง และเป็นต้นแบบสำคัญของการเพิ่มประชากรวัวแดงในผืนป่าไทยด้วยเช่นกัน
หมายเหตุบรรณาธิการ
บทบาทขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศไทยในโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่า
WWF-ประเทศไทย ได้ร่วมมือโครงการติดตามสถานะของวัวแดงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบันโดยได้มอบปลอกคอวิทยุสื่อสาร (Radio Collar) จำนวน 6 ชุด เพื่อตรวจสอบสถานะของวัวแดงที่มีการปล่อย โดยปลอกคอนี้จะทำการส่งสัญญาณผ่านระบบวิทยุหรือระบบดาวเทียมในการตรวจหาตำแหน่งพิกัดของวัวแดงแต่ละตัว ซึ่ง WWF ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการวิเคราะห์ ติดตามพฤติกรรมของ
วัวแดงที่ถูกปล่อย และเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อการวางแผนฟื้นคืนวัวแดงสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในอนาคต
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลกที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุล และยั่งยืนรวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดีสามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th