กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
ปัจจุบันพบว่าผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจในสาเหตุของโรค ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ที่แม่นยำเพียงพอ ตลอดจนขาดการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและการป้องกันที่จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที
บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุขภาพของผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงไทยปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านม และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ จึงได้จัดโครงการ "ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยมะเร็งเต้านมเพื่อชุมชน" เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านและสตรีผู้สูงอายุในชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตัวเองจะได้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม และเปิดโอกาสให้สตรีในชุมชนได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้น
นางสาวการุณี สุหร่าย กรรมการบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "วาโก้ได้รณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านมมาเป็นระยะเวลานานกว่า 16 ปี ภายใต้โครงการ "วาโก้โบว์ชมพู...สู้มะเร็งเต้านม" โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน รณรงค์ ป้องกัน สนับสนุน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จนขยายมาสู่แนวคิดสานพลังประชารัฐ ตอบสนองนโยบายเครือสหพัฒน์เพื่อสังคม จึงได้จัดโครงการ "ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยมะเร็งเต้านมเพื่อชุมชน" ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยจัดขึ้นในเขตบางคอแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ตั้งอยู่ สำหรับรูปแบบของโครงการจะมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อรู้ทันมะเร็งเต้านม เรียนรู้การบริโภคอาหาร ผัก ผลไม้ ให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจคัดกรองเต้านมโดยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ"
"โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างไทยวาโก้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อเป็นการสานพลังประชารัฐตามนโยบายที่ตั้งไว้ โดยในส่วนของภาครัฐ ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งให้การสนับสนุนแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพัฒนาชุมชน เขตบางคอแหลม ส่วนภาคประชาชนได้รับความร่วมมือจากประธานคณะกรรมการชุมชนและสตรีในชุมชนต่าง ๆ ในเขตบางคอแหลม ที่ผ่านมาได้จัดไปแล้ว 7 ครั้ง ครั้งนี้จัดที่ชุมชนศาลเจ้าแดงนับเป็นครั้งที่ 8 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 8 ครั้งกว่า 500 คน ซึ่งผลการดำเนินงานนับว่าน่าพอใจ ผู้ร่วมโครงการโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้รับความรู้มากขึ้นจากเดิมที่ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมาก่อน รวมทั้งได้รับการตรวจเต้านมจากที่ไม่เคยตรวจมาก่อน และหากพบว่าใครมีอาการผิดปกติบริษัทฯ ก็จะส่งไปตรวจอย่างละเอียดด้วยแมมโมแกรมโดยออกค่าใช้จ่ายในการตรวจให้" นางสาวการุณี กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงกรวรรณ วงศ์บางโพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่มาให้ความรู้กับผู้ร่วมโครงการได้กล่าวถึงสถานการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมในประเทศไทย ว่า "มะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง ปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่ 60 คน ต่อ 100,000 คน ความน่ากลัวของโรคนี้คือเป็นโรคที่พบมากขึ้น แต่ปัจจุบันเราพบคนไข้ที่เป็นระยะแรกมากขึ้นเนื่องจากมีการตรวจคัดกรองที่ดีขึ้นจากเมื่อก่อนที่จะพบในระยะที่ 3 ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมก็มีแนวโน้มลดลง"
สำหรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านมนั้น แพทย์หญิงกรวรรณ กล่าวว่า "ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกับผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันต้องมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอยู่เสมอ หากพบจะได้พบในระยะต้นๆ ซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า นอกจากนี้ ต้องควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งเต้านม เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เอสโตรเจนสูงขึ้นซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย เพราะน้ำตาลที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้น รวมทั้งงดการสูบบุหรี่ และใช้ฮอร์โมนเสริมในกรณีที่จำเป็น เพราะจากสถิติพบว่าคนที่ใช้ฮอร์โมนเสริมนานเกิน 2 ปี จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมถึง 2 เท่า ถ้าใช้ฮอร์โมนเสริมนานเกิน 5 ปี เพิ่มอัตราการเป็น 4 เท่า"
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการที่ชุมชนศาลเจ้าแดงในครั้งนี้มีประมาณ 50 คน ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นโครงการที่ดีที่ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดย นางสาวรังสินี แสงทอง หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า "มาร่วมโครงการครั้งนี้เพราะต้องการมาตรวจเต้านมกับคุณหมอและมารับความรู้ที่จะนำกลับมาดูแลตัวเอง งานนี้ทำให้ได้รับความรู้มากมาย ได้ทราบวิธีที่ถูกต้องในการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง วิธีสังเกตตัวเองว่าแบบไหนถือว่าผิดปกติ แล้วถ้าบังเอิญเกิดเป็นขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร ขั้นตอนการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราหายกังวลไปได้มาก ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่ให้ความรู้กับคนในชุมชน ซึ่งหลายคนไม่มีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมาก่อน อย่างน้อยก็ช่วยให้เขาได้สังเกตตัวเอง ดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ"