กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทช.ทวงคืนป่าชายเลน 5.2 หมื่นไร่ เดินหน้าปลูกฟื้นฟูไปแล้ว 3 หมื่นไร่ ชี้ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสำคัญมาก หนุนเอกชนทำซีเอสอาร์ฟื้นฟูป่าชายเลน ระบุชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการดูแลป่าชายเลน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เกี่ยวกับการดูแลป้องกันรักษาป่าชายเลน โดยมุ่งปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนที่ยึดครองที่ดินผิดกฎหมาย เพื่อนำพื้นที่กลับมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 – 2562 ทช. สามารถดำเนินการทวงคืนพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศ ส่งดำเนินคดีจำนวน 1,276 คดี เนื้อที่รวม 52,704.95 ไร่ ผู้ต้องหารวม 451 ราย ในส่วนของพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออกสามารถตรวจยึดจับกุม ส่งดำเนินคดีได้จำนวน 429 คดี เนื้อที่รวม 27,480.41 ไร่ ผู้ต้องหารวม 140 ราย
อธิบดี ทช. กล่าวว่า หลังจาก ทช. ได้ยึดคืนพื้นที่ป่าชายเลนกลับมาแล้ว ได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนทั่วประเทศ
ไปแล้ว จำนวน 31,829.33 ไร่ โดยในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนโดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 7,217.38 ไร่ และปลูกโดยวิธีประชาอาสา จำนวน 10,851 ไร่ รวมทั้งสิ้น 18,032.38 ไร่ และจะเดินหน้าฟื้นฟูป่าชายเลนของไทยให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
อธิบดีทช. กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าชายเลนไม่มากนัก เหลืออยู่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่ก็มีพื้นที่ป่าชายเลนมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งประโยชน์ของระบบบนิเวศป่าชายเลนมีประโยชน์มากมาย เพราะป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง ทำหน้าที่ในการป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งทะเล ลดการสูญเสียเมื่อเกิดอุทกภัย ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งการขยายพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการทำประมง และครอบคลุมถึงประโยชน์ในด้านการดูดซับและกักคาร์บอน
หากประเทศไทยสูญเสียป่าชายเลน ระบบนิเวศถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพ มนุษย์เองก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
อธิบดีทช. ย้ำว่า ดังนั้นภารกิจในการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนจึงสำคัญมาก รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ซึ่งอาจมีการปลูกเสริมในส่วนที่เสื่อมโทรมไป หรือปลูกทดแทนส่วนที่ถูกทำลาย โดยกรมทช. ได้เดินหน้าจัดสรรงบประมาณเพื่อปลูกเสริม และมีภาคเอกชนในการจัดทำซีเอสอาร์ในหลายๆ พื้นที่ แต่การฟื้นฟูต้องเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับและหน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าชายเลนในแต่ละปี แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างแนวร่วมในการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ อย่างน้อยก็จะช่วยให้ป่าชายเลนสามารถฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ขณะเดียวกันการฟื้นฟูไม่ใช่เพียงแค่เอาต้นกล้าไปปักแล้วถ่ายรูป แต่เราต้องคำนึกถึงอัตราการรอดของกล้าไม้เหล่านั้นด้วย ซึ่งภารกิจตรงนี้ชุมชนในพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก