ความเห็นต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ราคาน้ำมันโดยสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร พร้อมคำแนะนำการลงทุน บลจ. บีที

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2005 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ธ.ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ บทวิเคราะห์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ราคาน้ำมันพร้อมคำแนะนำการลงทุนโดย บลจ. บีที
สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 14 วัน) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับร้อยละ 2.75 สู่ระดับร้อยละ 3.25 — 3.50 ภายในปี 2548 จากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.สูงถึงร้อยละ 5.30 อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate of interest) ในปัจจุบันที่ยังติดลบ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯจะอยู่ที่ 4.00-4.25% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณชี้นำชัดเจนว่าจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่กำลังถูกคุกคามจากปัจจัยต่างๆ
ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร และ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด มีความเห็นว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยระยะยาว แม้นว่าการลงทุนจะชะลอตัวลง แต่สภาพคล่องในระบบก็ลดลงเช่นเดียวกัน การทยอยออกพันธบัตรของรัฐบาลและภาคเอกชนเป็นปัจจัยที่ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยยังสามารถปรับขึ้นได้อีก 0.50% ในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยคาดการณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 7 ก.ย. นี้จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50%
การระดมเงินทุนสำหรับการก่อสร้างในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐจะยังไม่มีผลต่อสภาพคล่องในปีนี้ ขณะที่การออกพันธบัตรกองทุนน้ำมันวงเงิน 80,000 ล้านบาทน่าจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยขนาดและความเร็วของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับปริมาณสภาพคล่องของแต่ละธนาคารเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัย มองว่า อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในทิศทางขาขึ้น จะปรับขึ้นไม่รวดเร็วนัก เพราะเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก จะเอื้อให้มีเงินทุนไหลเข้าทั้งในจีนและตลาดเงินตลาดทุนในเอเชีย ซึ่งรวมทั้งไทย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาท และช่วยลดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งจะช่วยชดเชยสภาพคล่องที่ลดลงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บีที กล่าวว่า จังหวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือซื้อหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ คือ ช่วงปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม โดยทาง บลจ.บีที วางแผนออกกองทุนตราสารหนี้เพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ทาง บลจ.บีที มองว่าดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานลดลงอีกรอบหนึ่งและน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า จังหวะการลงทุนที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม โดยพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลดีและปัจจัยพื้นฐานดี ควรเพิ่มน้ำหนักในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง หุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นกลุ่มขนส่งทางเรือ และกลุ่มอาหารส่งออก หลีกเลี่ยงกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับด้านสถานการณ์ราคาน้ำมัน สำนักวิจัยประเมินว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงมีความผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะทะยานสู่ระดับ 65 — 70 ดอลลาร์ / บาร์เรลในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความวิตกเกี่ยวกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัญหาการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งในสหรัฐ และความต้องการน้ำมันในตลาดโลกยังขยายตัว โดยเฉพาะในประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น สหรัฐ และจีน ตลอดจนการเก็งกำไรราคาน้ำมันที่มีมากขึ้น ดร. อนุสรณ์ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มีความเห็นว่า แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น แต่จากการที่รัฐบาลได้รณรงค์และออกมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน รวมทั้งการลอยตัวราคาน้ำมันในประเทศ ช่วยให้การใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังเห็นได้จากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินในเดือนกรกฎาคม 2548 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.7 และ 18.1 ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงในช่วงเวลาที่เหลือของปี
ตารางเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ / อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.
อัตราดอกเบี้ยของ อัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตรา อัตราเงินเฟ้อ
ธ.กลางสหรัฐฯ(%) นโยบาย ดอกเบี้ย (%) ทั่วไป (%)
ของธปท.(%)
ม.ค.48 2.25 2.00 0.25 2.70
ก.พ. 2.50 2.00 0.50 2.50
มี.ค. 2.75 2.25 0.50 3.20
เม.ย. 2.75 2.25 0.50 3.60
พ.ค. 3.00 2.25 0.75 3.70
มิ.ย. 3.25 2.50 0.75 3.80
ก.ค. 3.25 2.75 0.50 5.30
ที่มา : จากการรวบรวมของสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร
หมายเหตุ วันที่ 9 ส.ค. 48 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีกร้อยละ 0.25
สู่ระดับ ร้อยละ 3.50--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ