กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง ผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ยื่นไฟลิ่งเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 260 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 180 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 80 ล้านหุ้น พร้อมแต่งตั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
'บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง' หรือ SNNP ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ยื่นไฟลิ่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 260 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 180 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 80 ล้านหุ้น ชูจุดเด่นด้านความเป็นผู้นำในการพัฒนาสินค้าที่หลากหลายภายใต้ตราสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยมีประสบการณ์ในการดำเนินงานมายาวนานกว่า 30 ปี พร้อมแต่งตั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพการขยายธุรกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนานกว่า 30 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เพื่อเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวที่ดี ทั้งในด้านคุณภาพ และการสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งในใจของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ปัจจุบัน SNNP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าบริโภค ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนนภายใต้ตราสินค้าที่สำคัญ เช่น เจเล่ ไดยาโมโตะ และคูลลี่ คูล และผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น Asian Drink ภายใต้ตราสินค้าเมจิกฟาร์ม เช่น น้ำเฉาก๊วยผสมเนื้อเฉาก๊วย น้ำมะพร้าวผสมวุ้นมะพร้าว น้ำภายใต้ตราสินค้าเมจิกฟาร์ม และน้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าว ภายใต้ตราสินค้ายูซุ
(2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้นภายใต้ตราสินค้าที่สำคัญ เช่น เบนโตะ ผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่ง ภายใต้ตราสินค้าที่สำคัญ เช่น ดอกบัว และโลตัส และผลิตภัณฑ์ประเภทเวเฟอร์และขนมปังอบ ภายใต้ตราสินค้าที่สำคัญ เช่น ช๊อคกี้ และเบเกอรี่เฮาส์ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนานกว่า 30 ปี SNNP มีผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งและหลากหลาย มีตราสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย อีกทั้งมีทีมวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพ ส่งผลให้ SNNP เป็นผู้นำในการพัฒนาและนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ประกอบกับ SNNP มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่ง สามารถกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีกประเภทขายส่ง รวมถึงร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม เพื่อทำให้สินค้าสามารถกระจายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและนอกอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล กล่าวเพิ่มเติมว่า SNNP ยังมีจุดเด่นด้านฐานการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานในประเทศไทยจำนวน 4 แห่ง ที่มีความพร้อมด้านการผลิตในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้ SNNP สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและช่วยสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ SNNP มีแผนการขยายฐานการผลิตสินค้าในต่างประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการโรงงานผลิตสินค้าในประเทศกัมพูชาในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพิจารณาและศึกษาเพื่อลงทุนขยายฐานการผลิตเพิ่มเติมที่ประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับแผนการขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และช่วยสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562
ปัจจุบัน บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง มีทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 900 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 260 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.89 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 180 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 80 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 20.00 และร้อยละ 8.89 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ ตามลำดับ