กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจังหวัดอุบลราชธานียังมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอตาลสุ่ม อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเขื่องใน เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมทรัพยากรเครื่องจักรกลจากศูนย์ปภ. เขต 13 อุบลราชธานี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 5 นครราชสีมา เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานีอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง เพื่ออพยพผู้ประสบภัย ขนย้ายสิ่งของ และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ ปภ.ได้เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่บูรณาการให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ล่าสุด (12 ก.ย.62 เวลา 18.00 น.) ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอตาลสุ่ม อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเขื่องใน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโรงครัวพระราชทาน จำนวน 5 จุด ได้แก่ 1)บริเวณศาลาประชาวาริน อำเภอวารินชำราบ 2) วัดบ้านยางกระเดา อำเภอดอนมดแดง 3) อบต.นางเลิง อำเภอม่วงสามสิบ 4) ชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 2 อำเภอเมืองอุบลราชธานี 5) ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน รวมถึงมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากได้จัดตั้งโรงครัวในพื้นที่ 4 จุด ได้แก่ อำเภอตระการพืชผล 1 จุด อำเภอดอนมดแดง 1 จุด อำเภอวารินชำราบ 2 จุด ทั้งนี้ ปภ.ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมด้วยทรัพยากรเครื่องจักรจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 5 นครราชสีมา เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานีอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ทั้งรถบรรทุกขนาดเล็ก เรือท้องแบน รถขนย้ายผู้ประสบภัย เพื่ออพยพผู้ประสบภัย อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และให้บริการขนย้ายสิ่งของ รวมถึงนำรถไฟฟ้าส่องสว่างและรถผลิตน้ำดื่ม ให้บริการไฟฟ้าและน้ำดื่มสะอาดแก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยทหาร องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 1,995 ราย พร้อมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพแล้วกว่า 13,465 ชุด รวมถึงยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำสนับสนุนปฏิบัติการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะภารกิจการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 60 เครื่องของกรมชลประทานบริเวณสะพานมูลแก่งสะพือและสะพานโขงเจียม เพื่อผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ ทั้ง ศูนย์ ปภ.เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัด บูรณาการให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์สิ้นสุด