กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--Tooktee
กู้ซื้อบ้านร่วมกัน แต่เลิกกัน ไม่ได้จดทะเบียน หรือคู่สมรสจดทะเบียนที่กู้ซื้อบ้านร่วมกันแต่มีเหตุให้ต้องหย่าร้าง เลิกกันแล้ว ต้องถอนชื่อผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน รีไฟแนนซ์บ้านมากู้คนเดียว จะต้องทำอย่างไร? การเลิกกัน หรือ การหย่าร้างเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แถมยังมีสินทรัพย์ร่วมกันอีก จะแก้ปัญหาอย่างไร? ถึงแม้ Tooktee จะช่วยแก้ปัญหาชีวิตคู่ไม่ได้ แต่ก็แนะนำวิธีแก้ปัญหาการกู้ซื้อบ้านร่วมกันแล้วต้องแยกทางกัน ให้คุณได้นะ
3 ทางเลือกการจบปัญหากู้ร่วมซื้อบ้าน
1. ประกาศขายบ้าน ขายคอนโดทิ้งเสีย
2. ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม (บ้านยังผ่อนไม่หมด เปลี่ยนชื่อได้ไหม)
3. รีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้คนเดียว
1. ประกาศขายบ้าน ขายคอนโดทิ้งเสีย
เหมาะสำหรับ: ไม่มีใครต้องการผ่อน หรือเก็บบ้านหลังนี้ไว้แล้ว (ไม่อยากอยู่กับความทรงจำเก่าๆ ให้ช้ำใจ)
ข้อดี: ไม่ต้องผ่อนบ้านต่อ หมดภาระหนี้ และได้เงินก้อนมาไว้ใช้
ข้อเสีย: ในเวลากระชั้นชิด อาจประกาศหาคนซื้อในราคาที่ต้องการได้ยาก
การขายบ้าน ขายคอนโดมือสองเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด หากทั้งสองคนไม่ต้องการบ้านหลังนี้อีกต่อไป เพราะไม่ต้องรับภาระผ่อนบ้านอีก ต่อให้เรายังผ่อนบ้านไม่หมด ถ้าไม่โปะค่าผ่อนบ้านก็สามารถขายทั้งอย่างนั้น แต่จะขายบ้านได้กำไรไหมต้องขึ้นอยู่กับทำเล และศักยภาพของบ้าน หรือ คอนโดด้วย หากประกาศขายบ้าน ได้คนซื้อในราคาที่ต้องการแล้ว ก็ติดต่อธนาคารที่เราผ่อนบ้านอยู่ได้เลย ในหลายกรณีเราก็จะได้รับเงินส่วนที่เราผ่อนไปแล้วกลับมา ส่วนผู้ซื้อก็ทำการผ่อนต่อกับทางธนาคารในส่วนเงินกู้ที่เหลืออยู่ เมื่อได้รับเงินค่าผ่อนบ้านคืนมาแล้วเราก็มาแบ่งกับอดีตแฟน หรือ อดีตคู่สมรสได้ตามที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตาม การประกาศขายบ้าน ขายคอนโดให้ได้ราคาดีอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลาว่าต้องรีบขาย
Tooktee ขอแนะนำขั้นตอนการเตรียมบ้านเพื่อขายง่าย ๆ ดังนี้
เตรียมห้องให้พร้อมสำหรับการขาย
ซ่อมแซม ปรับปรุงห้องให้ดูใหม่ สวยงาม เหมาะกับการขาย อาจจะทาสีใหม่ เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องครัว โปะ ปิดรอยรั่ว รอยร้าวภายในบ้าน หากต้องการให้เตะตาถูกใจผู้ซื้อยิ่งขึ้น อาจตกแต่งแล้วถ่ายรูปมุมสวยๆ ของบ้าน เพื่อช่วยดึงดูดให้การประกาศขายมีความน่าสนใจมากยิ่งขี้น หากมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แอร์ หรือ เครื่องซักผ้าติดมากับบ้านด้วยก็อาจทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น
ตั้งราคาขาย โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขายด้วย
ก่อนจะตั้งราคาขายให้ไม่ขาดทุน เราต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่เราซื้อบ้าน ซื้อคอนโดหลังนี้มาจนถึงวันที่เราจะขาย ได้แก่ เงินจอง ค่าวางเงินดาวน์ ค่าใช้จ่ายในการขาย เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน ค่านายหน้า(ถ้ามี) ค่าใช้จ่าย ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น โดยต้องคำนึงถึงราคาตลาดบ้าน คอนโดมือสองในทำเลของเราด้วยเพื่อจะได้ตั้งราคาขายได้เหมาะสม หากตั้งราคาขายสูงเกินไปก็จะหาคนซื้อยาก แต่หากตั้งราคาขายถูกเกินไปก็จะไม่ได้กำไรเท่าที่ควร
ประกาศขายบ้าน
การจะหาคนซื้อในยุคนี้ เศรษฐกิจนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องใช้เวลาแต่เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ เราอาจต้องประกาศขายบ้านบนเว็บไซต์ซื้อขายบ้านชื่อดังหลายๆ ที่ หรือให้ส่วนลด โปรโมชั่น ตกแต่งห้องสวย ๆ มีของแถม เช่น แอร์ ตู้เย็นไปด้วย อาจช่วยให้คนซื้อตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น และขายได้ราคาดี
ประกาศขายบ้าน คอนโดของคุณบนเว็บไซต์ Tooktee.com (ฝังลิงค์ ลงประกาศ tooktee)
2. ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม
เหมาะสำหรับ: ตกลงกันได้ว่า คนใดคนหนึ่งจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน/คอนโด และผ่อนต่อคนเดียว
ข้อดี: รักษาบ้านไว้ได้ ไม่ต้องขายต่อ
ข้อเสีย: ผู้ที่จะผ่อนบ้านต่อต้องมีความสามารถในการผ่อนชำระแทนการกู้ร่วมได้
ก่อนอื่นเราต้องทำข้อตกลงกับอดีตคู่รักของเราให้ได้ว่าใครจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน และเป็นผู้ผ่อนบ้านต่อ หากช่วยกันผ่อนบ้านร่วมกันมานาน คนที่ถือกรรมสิทธิ์บ้านอาจต้องจ่ายเงินคืนให้บ้างเพื่อความเท่าเทียม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย แต่ต้องตกลงกันให้ได้นะ เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ยอมก็จะไม่สามารถ ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้
เมื่อทำการตกลงกันได้แล้ว ก็ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งว่าจะเปลี่ยนจากการกู้ร่วมเป็นการกู้เพียงคนเดียว แล้วจึงนัดกันไปที่กรมที่ดินเพื่อขอโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ และทำทำสัญญาซื้อขายกัน (โอนขายเฉพาะส่วน) ซึ่งมีค่าธรรมเนียมประมาณ 5% ของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับคู่สมรสที่ซื้อบ้านหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว บ้านจะถือเป็นสินสมรส เมื่อต้องการถอนชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกจะได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่ายในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากร หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ
แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีทางธนาคารอาจไม่อนุมัติให้ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม หากเราไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระเพียงพอ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอาจต้องปรึกษาทางธนาคาร หรือ ปรึกษาพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่อาจจะมาช่วยเป็นผู้กู้ร่วมแทนได้
3. รีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้คนเดียว
เหมาะสำหรับ: คนที่ต้องการถือกรรมสิทธิ์บ้านต่อเพียงคนเดียว แต่ยื่นถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมที่ธนาคารเดิมไม่ผ่าน
ข้อดี: มีโอกาสได้รับการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารอื่น และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงในช่วงแรก
ข้อเสีย: อาจยื่นกู้ไม่ผ่านก็ได้ ต้องมั่นใจว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระเพียงพอ
สำหรับคนที่ยื่นถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมกับธนาคารเดิมที่เราผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดอยู่ไม่ผ่าน อาจจะลองยื่นรีไฟแนนซ์ไปกู้ธนาคารอื่นแทน เพื่อขอเป็นผู้กู้คนเดียวก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงว่าเราอาจจะกู้ไม่ผ่านอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร ก่อนยื่นเรื่องก็ควรตรวจสอบความสามารถในการผ่อนชำระของเราเองด้วย เช่น ความมั่นคงในหน้าที่การงาน รายได้ แหล่งที่มาของรายได้ ภาระหนี้สินทั้งหมด และ ประวัติการผ่อนชำระหนี้ตรงเวลากับธนาคารก่อนหน้า ถ้าหากธนาคารเห็นว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระเพียงพอก็จะอนุมัติการรีไฟแนนซ์ให้อยู่ในชื่อผู้กู้คนเดียวได้ ในขั้นตอนการจดจำนองรีไฟแนนซ์ใหม่นี้ เราต้องนัดหมายอดีตคู่รักที่เป็นผู้กู้ร่วมของเรามาเซ็นยินยอมการโอนบ้านด้วย จึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการได้
สำหรับคนที่ซื้อบ้านร่วมกับแฟน แล้วเลิกกัน หรือมีเหตุการณ์อื่น ๆ เกิดขึ้น ทำให้ต้องไม่สามารถกู้ร่วมกันได้อีก Tooktee แนะนำให้ลองพิจารณาวิธีการจัดการปัญหาทั้ง 3 อย่างข้างต้น แต่ขั้นตอนแรกเลยเราต้องทำการตกลงกันให้ได้ก่อนว่าทั้งสองฝ่ายต้องการแบบไหน ใครคนใดคนหนึ่งยังต้องการรักษาบ้านหลังนี้ไว้อยู่ไหม คนที่ไม่ได้บ้านไปต้องการอะไรแลกเปลี่ยนหรือไม่ หรือว่าทั้งสองคนไม่ต้องการจะผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดหลังนี้ต่อแล้ว เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงจะเลือกวิธีการได้ว่าจะขายทิ้ง ถอนชื่อผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน หรือ รีไฟแนนซ์บ้านมากู้คนเดียวดี
สำหรับคนที่กำลังจะกู้ร่วมซื้อบ้านโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส อาจเป็นญาติที่ถูกขอนำชื่อไปใช้ หรือ แฟนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนจะดำเนินการยื่นเรื่องก็ควรตกลงกันเรื่องกรรมสิทธิ์บ้านไว้ก่อน จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง เพราะหากกู้ร่วมกันโดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันแล้ว จะถือว่ามีหนี้ร่วมกัน หากใครคนหนึ่งไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบ อีกคนจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดทันที
ประกาศขายบ้าน คอนโดของคุณบนเว็บไซต์ Tooktee.com