กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--วิวาลดี้ อินทิเกรเต็ด พับลิค รีเลชั่นส์
นายฟิลิปป์ ดูปุย หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าแห่งคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายปีเตอร์ โควาส์ หัวหน้าฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ และผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายการค้าคณะกรรมาธิการยุโรป และนายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย พบกิจกรรมตลอดสัปดาห์เพื่อเน้นย้ำถึงปัญหาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก พร้อมร่วมแสวงหาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค
งาน IP Key SEA IP Enforcement Week จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ถือประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเด็นที่สำคัญจากงานแถลงข่าวสามารถรับชมวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2kvnGRj
จากรายงานการค้าโลกเกี่ยวกับสินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป หรือ European Union Intellectual Property Office (EUIPO) แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังลุกลามในปัจจุบันว่า สินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ของมูลค่าการค้าโลก ในปี ค.ศ. 2016 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่มีอัตราเพียง 2.5% เท่านั้น
งานประชุม IP Enforcement Week จะครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายมากมาย นำเสนอโดยผู้บรรยายมากประสบการณ์จากคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงจากหน่วยงาน EUIPO Observatory ซึ่งจะมาบรรยายเรื่องการละเมิดสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิบัติงานของหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหภาพยุโรป สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันการศึกษา รวมถึงผู้แทนของสหภาพยุโรปและองค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าวว่า "แผนงานของ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ส่งเสริมการยกระดับการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยแผนงานนี้มีการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับสากล เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความท้าทายเฉพาะด้านที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา และในขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและผู้พัฒนานวัตกรรมจากสหภาพยุโรปสามารถเข้าถึงตลาดในภูมิภาคได้ ดังนั้นงาน IP Enforcement Week จึงมุ่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาในหมู่ผู้ถือประโยชน์ในภูมิภาค และเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นพันธะหน้าที่อันสำคัญยิ่งสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงต่อการเพิ่มจำนวนสินค้าปลอมที่รวดเร็ว"
การอุบัติขึ้นของการละเมิดสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาได้รับแรงเสริมจากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมาก ซึ่งทำให้การผลิตซ้ำสินค้าใช้ต้นทุนต่ำ มีคุณภาพสูงและทำได้ในปริมาณมาก และก่อให้เกิดวงจรสินค้าปลอมได้รวดเร็วกว่าในอดีต โดยมีการประเมินว่าสหภาพยุโรปเกิดความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในแต่ละปีราว 8 พันล้านยูโร สืบเนื่องจากการปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรม และหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาในระดับธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
หนึ่งในปัญหาหลักของการบังคับใช้กฎหมายเรื่องสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา เกิดจากการขาดความตระหนักรู้ถึงมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการขาดมาตรการบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขความเสียหายที่จำเป็น ดังนั้น งาน IP Enforcement Week จึงมุ่งเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาและความสำคัญของมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นพันธะหน้าที่อันสำคัญยิ่งสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงต่อการเพิ่มจำนวนสินค้าปลอมที่รวดเร็ว
งาน 2019 IP Enforcement Week จัดขึ้นภายใต้แผนงานของไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key SEA) และได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการยกระดับการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายมากมายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งแผนงานนี้มีการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระกับสากลเพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความท้าทายเฉพาะด้านที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของธุรกิจและผู้พัฒนานวัตกรรมในสหภาพยุโรป
เกี่ยวกับ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) คือหน่วยงานของสหภาพยุโรป มีฐานการดำเนินงานในเมืองอาลีคานเต้ ประเทศสเปน ทำหน้าที่บริหารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสหภาพยุโรป (European Union Trade Mark: EUTM) และหน่วยงาน Registered Community Design (RCD) โดยทั้งสองหน่วยงานให้ความคุ้มครองแก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ตลอดจนดำเนินกิจการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคของสหภาพยุโรป ภายใต้แผนกลยุทธ์ปี 2020 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปได้ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับสากลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกลุ่มพันธมิตรของสหภาพยุโรป ประเทศนอกสหภาพยุโรป และองค์กรพหุภาคี