กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ไทยออยล์
เช้าวันนี้ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้ประกาศให้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของ DJSI 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า "ไทยออยล์มุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจด้วยสมดุล 3 ด้านคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าสู่สังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเลิศ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และการตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด ทำให้บริษัทฯ ได้รับการประเมินให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในปี 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซอีกด้วย ผลการประเมินของ DJSI ในปีนี้ เป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของบริษัท เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน"
นายวิรัตน์ กล่าวเสริม "ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของไทยออยล์ ทั้งการดำเนินการขยายโรงกลั่นภายใต้ 'โครงการพลังงานสะอาด' ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและภูมิภาค ตลอดจนการปรับวิสัยทัศน์สู่ปี 2030 ที่ว่า 'Empower Human Life through Sustainable Energy and Chemicals' ที่สะท้อนให้เห็นการมุ่งมั่นสู่ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนด้วยหลักการสร้างคุณค่า 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาคุณค่าทางธุรกิจ (Value Protection) การพัฒนาคุณค่าทางธุรกิจ (Value Enhancement) และการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน (Sustainable Value Creation) ส่งผลให้เกิดรากฐานที่เข้มแข็งของพนักงานไทยออยล์และระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ผ่านการจัดการความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่รอบด้าน การจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่ออนาคต การกำกับดูแลกิจการองค์กรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม อย่างมืออาชีพ และสามารถตรวจสอบได้ มีการยกระดับวัฒนธรรมด้านบรรษัทภิบาลอย่างเป็นรูปธรรมโดยผู้บริหาร พนักงานทุกคน และขยายไปสู่คู่ค้าคู่ธุรกิจของไทยออยล์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานร่วมกันในระยะยาว"
"ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ไทยออยล์ให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตลอดสายโซ่อุปทาน ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานกว่า 25 โครงการ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงกว่า 4 หมื่นตันต่อปี การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการจัดการนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเพื่อทดแทนสาร CFC และ HCFC ผลิตภัณฑ์สำหรับซักล้างที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ ของบริษัท ท็อป โซเวนท์ จำกัด เป็นต้น และในปีที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้ร่วมสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low carbon society) ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 7 แสนตัน ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ได้แก่ แก๊สโซฮอลล์และไบโอดีเซล โดยผู้ใช้ขั้นปลาย
อีกทั้ง การส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยร่วมกับผู้รับเหมาที่มาปฏิบัติงานในไทยออยล์จนทำให้มีสถิติความปลอดภัยอยู่ในระดับ first quartile หรือกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยให้แก่ชุมชนโดยรอบ โดยมีกระบวนการสื่อสาร รับฟังความเห็น และจัดการเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ดัชนีความผูกพัน (Community Engagement) ของชุมชนรอบโรงกลั่นต่อการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์อยู่ในระดับสูง มุ่งเน้นการเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จในระยะยาว" นายวิรัตน์กล่าว
"จากการได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และได้รับการจัดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมนี้ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของไทยออยล์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มผ่านกรอบธรรมาภิบาลและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้กล่าวมาทั้งหมด" นายวิรัตน์ กล่าวปิดท้าย
Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI เป็นดัชนีจัดอันดับผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก โดยมี RobecoSAM Corporate Sustainability Assessment ผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เป็นผู้ประเมินจัดอันดับ โดยมีเกณฑ์กำหนดว่า บริษัทที่จะเข้ารับการประเมินได้จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียน และมี Free Float Market Capitalization ใน Dow Jones Total Stock Market Index สูงสุด 2500 บริษัทแรก และกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Markets สูงสุด 800 บริษัทแรก ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 3,517 บริษัททั่วโลก
ทั้งนี้ RobecoSAM จะส่งแบบสอบถามตามประเภทอุตสาหกรรมมาให้บริษัทที่ได้รับเชิญ เพื่อตอบคำถามเชิงลึก พร้อมจัดส่งหลักฐานอ้างอิงและช่องทางการเปิดเผยสู่สาธารณะ เกี่ยวกับแผนงานและกลยุทธ์ วิธีการบริหารจัดการ เป้าหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตลอดจนผลการปฏิบัติงาน ที่ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยไทยออยล์ได้รับเชิญเป็น 1 ใน 150 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 และได้ตอบแบบสอบถามไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562
ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ไทยออยล์มีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันมีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่งทางเรือและทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด ธุรกิจบริการจัดเก็บน้ำมันดิบ น้ำมันปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และธุรกิจให้บริการด้านการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรสำหรับกลุ่มไทยออยล์