กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ซีพี ออลล์
S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ประกาศผลการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ประจำปี 2019 หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI ปรากฏว่า บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทชั้นนำด้านองค์กรความยั่งยืนอันดับ 1 ของกลุ่ม World Index ประเภท Food & Staples Retailing Industry โดยได้คะแนนอันดับ 1 ของโลกในประเภทเดียวกัน
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ก่อตั้งเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานได้ระบุถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่าเป็นผลมาจากการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจประเภท Food & Staples Retailing Industry การรักษาระดับกิจกรรมที่ครอบคลุมทั้งอาหาร ค้าปลีก และจัดจำหน่าย โดยมีการลงทุนด้านโครงสร้างทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการค้าปลีกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ และพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะสนับสนุนให้บริษัทตอบสนองต่อการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของความต้องการผู้บริโภคในด้านสุขภาพ และอาหารทางเลือกที่มาจากธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ผู้ค้าปลีกอาหารก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเชื่อมโยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าด้วยกัน ผ่านนโยบายการจัดซื้อที่มีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และสร้างการเติบโตให้แก่ผู้ค้าปลีกในฐานะที่เป็นทางเลือกในการประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย
ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ภายใต้ปณิธาน "ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน" มาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ส่งผลให้ในปี 2019 นี้ ซีพี ออลล์ ไม่เพียงได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI กลุ่ม World Index ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และกลุ่ม Emerging Markets Index ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (2017-2019) แต่ยังเป็นสามารถเป็นที่ 1 ในประเภท Food & Staples Retailing Industry ของกลุ่ม World Index ได้รวมสูงสุดในหมวดนี้
โดยการดำเนินงานที่โดดเด่นมีทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมวดที่บริษัทได้รับคะแนนสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ ด้าน Materiality และ CRM ในมิติเศรษฐกิจ ด้าน Packaging และ Water Related Risk ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับด้าน Human Rights ด้าน Health & Nutrition และ Policy influence นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการอย่างมีนัยยะสำคัญในด้าน Supply Chain Management ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากความพยายามมุ่งมั่นของซีพี ออลล์ ในการพัฒนานโยบาย และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความคาดหวังของคู่ค้าให้ครบทุกด้าน ผ่านการสื่อสาร อบรม และประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาให้คู่ค้าเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัทอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม รวมทั้ง ด้านมาตรการแรงงาน ซึ่งมาจากการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย