กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน พร้อมมอบแนวทางการช่วยเหลือและรับฟังปัญหาของเกษตรกร โอกาสนี้ได้มอบถุงยังชีพ เวชภัณฑ์และเสบียงอาหารสัตว์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ ฟาร์มโคขุน ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
นายประภัตร กล่าวว่า ฟาร์มเลี้ยงโคขุนแห่งนี้ได้รับการพัฒนายกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งยังเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนเพื่อเป็นอาชีพเสริม ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงระยะสั้นประมาณ 90-120 วัน โดยขุนให้ได้น้ำหนักประมาณ 500 กก. และขายผ่านพ่อค้าที่จะส่งไปประเทศจีนและเวียดนาม นอกจากนี้มีโรงผสมอาหาร เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ในฟาร์มและในกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน โดยมีเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่าย ประมาณ 60 ราย จำนวนโคขุนในกลุ่ม ประมาณ 1,200 ตัว กรมปศุสัตว์ ช่วยเหลือดูแลด้านการป้องกันโรคระบาด ให้ความรู้ผลักดันเข้าสู่ฟาร์มมาตรฐาน การตรวจสอบโคก่อนการเคลื่อนย้าย
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงและพ่อค้ายังมีความต้องการโคเนื้อ-โคขุน จำนวนมาก หากสามารถสร้างกลุ่มผู้เลี้ยงแม่โคผลิตโครุ่นเพศผู้สายพันธุ์ดี ป้อนให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน เพื่อผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพซากดีเทียบเท่าโคที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะเป็นการช่วยลดปริมาณการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ และเป็นโอกาสในการพัฒนาที่จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนี้ การสร้างศูนย์ผลิตอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค เผื่อผลิตอาหารหยาบคุณภาพดี มีปริมาณที่เพียงพอต่อการเลี้ยงโคตลอดปี ก็จะสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต มีศักยภาพแข่งขันกับโคจากต่างประเทศได้ อีกทั้งต้องเน้นส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ-โคขุน โดยปรับระบบการเลี้ยงให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลิตโคที่มีสายพันธุ์ดี คุณภาพซากดี เพื่อเพิ่มมูลค่า มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งสร้างระบบการตลาดมีข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าเพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้ผู้เลี้ยงโคได้เข้มแข็งให้ได้
"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้สามารถนำตราสัญลักษณ์ Q (Q - GAP) ซึ่งแสดงถึงสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าสามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดสากลได้ นอกจากนี้จะส่งเสริมพัฒนาให้ฟาร์มโคเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP รองรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในอนาคตอีกด้วย" นายประภัตร กล่าว
สำหรับจังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อที่ใหญ่เป็นอับดับ 2 รองจากจังหวัดตาก มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประมาณ 37,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม มูลค่าการผลิตด้านปศุสัตว์ปี 2559 มีมูลค่า 3,668 ล้านลาท โดยเป็นมูลค่าการผลิตโคเนื้อโคขุน ประมาณ 1,365 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่ขึ้นทะเบียนกรมปศุสัตว์ จำนวน 6,702 ครัวเรือน จำนวนโคเนื้อรวม 79,263 ตัว เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน จำนวนโคขุน 3,453 ตัว แยกการเลี้ยงเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ การเลี้ยงโคผลิตลูก หรือโคต้นน้ำ และการเลี้ยงโคขุน-โคมัน หรือโคกลางน้ำ ซึ่งโครงการส่งเสริมในจังหวัดสุโขทัย ได้แก่ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโค โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 2 โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ด้านโคเนื้อ ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเลี้ยง เพิ่มปริมาณการผลิตโคเนื้อในจังหวัด รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโค เพื่อผลิตโคเนื้อที่มีสายพันธุ์และคุณภาพซากดี รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันด้านราคากับโคเนื้อจากต่างประเทศได้