กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ม 144 แห่งรัฐธรรมนูญของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,014 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 10 – 14 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.2 ไม่เคยอ่าน มาตรา 144 แห่งรัฐธรรมนูญปี 60 ในขณะที่เพียงร้อยละ 11.8 เคยอ่าน เป็นเรื่อง การห้าม ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ดัดแปลงงบประมาณหรือแก้ไขเพิ่มงบประมาณ เพิ่มรายการ เป็นต้น และที่น่าพิจารณาคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.0 ระบุเหตุผลที่นักการเมืองต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ เปิดช่องโกง เปิดช่องจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่หาเสียงของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 47.0 ต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่า
ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.4 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับใดเลย ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.4 เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 40 แบบอ่านบางส่วนถึงอ่านละเอียด ในขณะที่ร้อยละ 6.7 เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 50 และร้อยละ 12.7 เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 60 นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น ได้อ่านมาแล้วด้วยตนเองหรือ ฟังเขาว่ามา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.4 ไม่ได้อ่านด้วยตนเอง แต่ฟังเขาว่ามา ในขณะที่ร้อยละ 15.6 เคยอ่านด้วยตนเอง
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะประชาชนส่วนใหญ่กำลังสนใจเฉพาะเรื่องใกล้ตัวกระจัดกระจายกันไปเพื่อหาทางให้ตัวเองอยู่รอดได้ทำให้ไม่ได้มองถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและบ้านเมืองที่ฝ่ายการเมืองมักจะมีวาระซ่อนเร้นในความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 144 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านเป็นมาตราที่ป้องกันได้ไม่ให้นักการเมืองหาทางโกงไม่ให้นักการเมืองโยกงบประมาณไปลงพื้นที่หาเสียงของตนอันเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยกและภูมิภาคนิยมที่ประเทศไทยในอดีตถูกนักการเมืองแปรญัตติดัดแปลงรายการโยกงบประมาณเอาใจฐานเสียงของตนเอง ปัจจัยเหล่านี้มีใครบ้างที่จะใส่ใจว่าเป็นต้นตอของความแตกแยก ความขัดแย้งของคนในชาติ
"การบริหารราชการแผ่นดินที่ดีอยู่ที่ข้อมูลที่ดีที่รัฐบาลหลังการยึดอำนาจได้ออกแบบไว้คือการมียุทธศาสตร์ที่ดีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติ เพราะการมีข้อมูลที่ดี นำไปออกแบบยุทธศาสตร์ที่ดี นโยบาย แผน ชุดโครงการและโครงการต่าง ๆ ที่ดีได้จึงขอส่งสัญญาณเตือนว่าอย่าไปแตะหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่จะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองขณะมีอำนาจไปแสวงหาผลประโยชน์และเอางบประมาณลงพื้นที่ฐานเสียงของพรรคพวกตนเอง ดังนั้นการได้มาซึ่งข้อมูลที่ดีจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกชุดต้องจัดเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด" ผศ.ดร.นพดล กล่าว