กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ รับมอบรางวัลเลิศรัฐ หรือรางวัลบริการภาครัฐ ประจำปี 2562 จาก นายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดขึ้นและพิจารณาตัดสินมอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรและเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดย วว. ได้รับการพิจารณาให้รับ "รางวัลระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ" จำนวน 2 รางวัล จากการดำเนินงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร โอกาสนี้ ผู้บริหาร พนักงาน วว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. มุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีอาหารแปรรูปของ SMEs ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อาหารแปรรูปอย่างครบวงจร เช่น การรับรองระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทุกระบบ การวิเคราะห์คุณภาพของอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น โดยมีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ คือ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นการรองรับผลผลิตการวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตผลิตผลจากงานวิจัยเป็นสินค้าสำหรับทดลองตลาด ให้ประชาชนบริโภคและสามารถนำไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหารแปรรูป พัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการ การยกระดับการผลิตในเชิงวิศวกรรมสู่ระดับโรงงานนำทาง (Pilot scale) และระดับอุตสาหกรรม (Commercial scale) โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานโรงงานนำทางด้านการแปรรูปอาหารที่มีโรงเรือนและเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปดำเนินการทางการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี (โซนโรงงานอุตสาหกรรม) และบริเวณพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมทางด้านอาหารแปรรูป เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีจำนวนโรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 416 โรงงานจาก 3,645 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 11.41 มูลค่าเงินลงทุน 47.7 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มในระดับ OTOP ของจังหวัดปทุมธานี จำนวนมากว่า 600 ราย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี โดยให้บริการกับผู้ประกอบการสำหรับทดลองผลิตสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการเพิ่งจะเริ่มต้นกิจการ หรือในระยะรอการสร้างโรงงานของผู้ประกอบการ หรืออยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร วว. ว่า มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายข้อ 1 ขจัดความยากจน "No Poverty" และเป้าหมายข้อ 9 สร้างนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน "Innovation and Infrastructure" โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเติบโตอย่างเข้มแข็งสร้างรายได้ ลดความยากจน ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของตำบลและพื้นที่ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ และเกิดคุณค่าใหม่ รวมถึงให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร ทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-based Ecosystem) โดยการปรับสมดุลระหว่างคน ธรรมชาติท้องถิ่น และเทคโนโลยี สร้างความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรได้ด้วยตนเองในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นแนวทางสู่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรม
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th Line@tistr