กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่8 กรมวิชาการเกษตร
นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่8(สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันสวพ.8ได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่นของแต่ละจังหวัดยกระดับเป็นเป็นอาชีพเพื่อสร้างได้ หลังจากก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาการแปรรูปกล้วยฉาบน้ำตาลโตนดรำแดงพร้อมทั้งส่งเสริมการตลาดให้กับชุมชนควบคู่กัน โดยสวพ.8 ร่วมกับชุมชนจัดทำตลาดพรีเมี่ยมรำแดงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ที่บ้านป่าขวาง ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่พัฒนาชุมชนและเห็นผลได้จริง ตั้งแต่สร้างความเข้มแข็งชุมชน ผลิตพืชผสมผสาน รับรองมาตรฐาน แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มตลาดจัดจำหน่ายและการท่องเที่ยวจนได้รับการชื่นชมจากพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ที่สามารถขับเคลื่อนโครงการวิจัยและพัฒนาการจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จในเชิงรูปธรรม ในการส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ในครอบครัว
ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบน้ำตาลโตนดเกิดจากสวพ.8 ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรวิจัยการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์พื้นถิ่นนำเอากล้วยดีที่ปลูกบนดินยุคโฮโลซีน เมื่อทะเลยกตัวราว5000ปีมาแล้วผสมผสานกับน้ำตาลโตนดที่เป็นพืชประจำถิ่นคาบสมุทรสทิงพระ มาหลาย 100 ปี ทำให้ได้สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณค่าดัชนีน้ำตาลน้อยกว่าการใช้น้ำตาลทรายมีแคลเซียมและธาตุเหล็กสูงกว่าผลไม้ทั่วไปประมาณ5เท่าซึ่งการพัฒนาได้รับการสนับสนุนต่อยอดจากหลายภาคส่วน อาทิ อบต.รำแดง สำนักงานเกษตรอำเภอสิงหนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาและสำนักงานพัฒนาชุมชน ในการร่วมกันส่งเสริมการผลิตพืชการแปรรูปสินค้าและการตลาดของเกษตรกรให้พัฒนาครบวงจรและมีความยั่งยืนในต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ทั้งนี้ สวพ.8ได้เข้ามาดำเนินงานวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลรำแดงเมื่อปี 2559 โดยเริ่มทดลองให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าว มาเป็นการปลูกไม้ผลและพืชผัก โดยการปรับสภาพพื้นที่นา ประมาณ 2 ไร่ ขุดยกร่องเป็นร่องสวน และปลูกกล้วย มะม่วง ส้มโอ และพืชผักต่างๆ สำหรับ การพัฒนาการปลูกกล้วย ได้แนะนำ ให้เกษตรกรปฏิบัติ ตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ได้กล้วยคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม เพราะมีการรับรองมาตรฐานคุณภาพ GAP
นอกจากการขายเป็นผลผลิตกล้วยสดแล้ว ได้มีการศึกษาการแปรรูป เป็นกล้วยฉาบและเพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์สินค้า จึงได้นำเอาจุดเด่นของพื้นที่เข้ามาผนวกกับสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พื้นถิ่นซึ่งปัจจุบันพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระถือเป็นแหล่งปลูกต้นตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทยและเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตน้ำผึ้งตาลโตนดคุณภาพดี การนำผลิตภัณฑ์ ทั้งสองอย่างมารวมกันจึงทำให้ได้กล้วยฉาบ น้ำตาลโตนด ที่มีเอกลักษณ์จนสามารถพัฒนาสูตรเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและล่าสุดได้รวมกลุ่มเกษตรกรจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นในปีนี้