กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
มสช. จับมือ ๒ เครือข่ายเยาวชนระดับชาติ และองค์กรภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เผยผลสำเร็จการรวมพลังป้องกันเด็กและเยาวชนไทย จากการพนันและการพนันออนไลน์ในช่วง ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมคลอดแผนปฏิบัติการ งัด ๕ ยุทธศาตร์เด็ด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันและการพนันออนไลน์ และรับมือฤดูกาลฟุตบอลยูโร ปี ๒๕๖๓ ด้าน รมช.สธ. สั่งชัดสร้างครอบครัวอบอุ่น เสริมนิสัย-วินัย เด็กปฐมวัยรู้ใช้เทคโนโลยีถูกต้อง คือภูมิต้านทานให้เด็กและเยาวชนไทยไม่ติดการพนัน
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงาน "๑ ทศวรรษ รวมพลังป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์" กิจกรรมเสวนาเพื่อขับเคลื่อนแผนการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันและการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนไทย โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และประกาศเกียรติคุณแก่ ๒๖ องค์กรภาคีร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนัน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากพนันออนไลน์" ณ อาคารหอประชุม ชั้น ๒ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ดร.สาธิติ ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก ที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะในเด็กและเยาวชนไทยเท่านั้น แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันแก้ไข โดยตนมองว่าทางออกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหา คือความอบอุ่นในครอบครัว และการใช้จิตวิทยาพูดคุยเพื่อปรับกระบวนการคิด การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและตัวเยาวชน โดยเฉพาะในเรื่องการพนันออนไลน์ที่ระบาดหนัก ต้องให้ความรู้สถาบันครอบครัว ว่าจะใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นตัวเชื่อมไปสู่การพนันออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้เด็กและเยาวชนหลงเข้าไปวงจรเล่นการพนันและติดการพนัน ซึ่งอยู่ในขอบเขตงานของ สธ.อยู่แล้ว โดยจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมสุขภาพจิต เข้ามาดูแลให้เข้มข้นขึ้น ขณะที่งานในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เข้าข่ายเป็นการพนันออนไลน์ ก็จะประสานไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หามาตรการจัดการอย่างเด็ดขาดเพิ่มเติม
"ต้องขอบคุณสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมการทำงานไปกับผู้ใหญ่ เพราะหากจะปัญหาของเด็กและเยาวชนก็ต้องฟังพวกเขา และการที่เยาวชนลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ เพราะเด็กจะฟังเด็กด้วยกัน โดยมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตนำข้อเสนอของเครือข่ายเยาวชนที่สรุปมาให้วันนี้ ไปพิจารณาดำเนินการว่าสามารถจัดเพื่อแก้ไขปัญหาได้หรือไม่" รมช.สธ. ระบุ พร้อมกล่าวต่ออีกว่า
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมมือดำเนินการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันและการพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และจริงจังมากขึ้นในระยะ ๑ ปีมานี้ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้ถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและลดผลกระทบปัญหาดังกล่าว และผลักดันจนเกิด "ร่างแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๖๙" จาก 3 คณะทำงาน ได้แก่ คณะทำงานยกร่างแผนการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พร้อมหาเจ้าภาพมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษา กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นแนวทาง ตั้งกลไก ในการควบคุม จัดการปัญหา และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการพนันและการพนันออนไลน์
นายพงศ์ธร กล่าวต่ออีกว่า ส่วนสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการด้านป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันและการพนันออนไลน์ พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๖๙ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การผลักดันประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างและพัฒนาให้เกิดกลไกในกำกับของรัฐเพื่อทำหน้าที่ บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างองค์ความรู้ จัดการความรู้ และเผยแพร่ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการป้องกัน ลดผลกระทบ ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยา และยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย
"การดำเนินงานหลังจากนี้ ก็จะนำร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวเสนอเข้าคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ หรือ กดยช. เพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานและบังคับใช้กฎหมายตามร่างแผนปฏิบัติการต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนันและการพนันออนไลน์ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง สร้างเสริมองค์ความรู้เรื่องการพนันในทุกมิติในหลักสูตรการเรียนการสอน และการปราบปราม ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ นับเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะมาช่วยจัดการและบรรเทาปัญหาการพนันบอลออนไลน์ในช่วงฤดูกาลฟุตบอลยูโรในเดือนมิถุนายนปีหน้า ๒๕๖๓" ผจก.ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มสช. ชี้แจงเพิ่ม
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มุมมองจากการได้เข้าร่วมทำงานในเรื่องนี้ในฐานะเยาวชนมานานกว่า ๕ ปี คิดว่าแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายที่ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันเป็นทิศทางที่ดี เพราะการแก้ปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่การพนันอยู่คู่กับวิถีชีวิต และคนไทยคิดว่าการเล่นพนันในไม่ใช่เรื่องผิด ต้องอาศัยนโยบายออกเป็นกฎกติกาทางสังคมและนำไปสู่การบังคับใช้ รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การลดการเล่นพนัน ลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้คาดหวังถึงกับให้เลิกเล่นพนันได้อย่างเด็ดขาด แต่ควรเล่นอย่างมีความรับผิดชอบไม่เดือดร้อนครอบครัว
"สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพนันและพนันออนไลน์ในเยาวชน คือการรณรงค์บนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เนื่องจากเด็กและเยาวชนอยู่บนแพลตฟอร์มนี้เยอะมาก ผลสำรวจจากหนังสือกลไกเชิงพื้นที่ในการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน : บทเรียนทรงพลัง พบว่า มีเด็กและเยาวชนเล่นการพนันสูงถึงร้อยละ ๓๖.๙ หรือ ๓,๖๔๙๓๐๓ คน แบ่งเป็นผู้ชาย ๒,๐๔๘,๘๗๔ คน ผู้หญิง ๑,๖๐๐,๔๒๙ คน และในจำนวนนี้กว่า ๑ แสนคนติดหนี้พนัน เป็นเงินราว ๓๓๕ ล้านบาท เฉลี่ยรายละ ๓,๕๑๒ บาท และที่เน้นการรณรงค์ผ่านการสื่อสารบนสื่อมัลติมีเดีย เพราะพบว่าการรณรงค์ผ่านการสื่อสารในแบบ ๓ on ช่วยให้เกิดการรับรู้และลดการเล่นพนันได้ โดย ๓ on ประกอบด้วย ๑.on ground การสื่อสารแบบลงพื้นที่ ตอกย้ำพิษภัยของการพนันและการพนันออนไลน์แก่คนที่ไม่เล่นโซเชียล ๒.online เพื่อชี้ให้เห็นโทษของการพนันแก่เด็กและเยาวชน และ ๓.on broadcast ในช่องทางสื่อเก่า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพื่อสื่อสารกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และผู้กำหนดนโยบายในบ้านเมือง" เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าว
นายพชรพรรษ์ กล่าวต่ออีกว่า การทำงานของภาคเยาวชนในการแก้ปัญหาและลดผลกระทบการพนันและการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนไทยหลังจากนี้ จะประสานกับกลุ่มเครือข่ายเยาวชน เช่น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อน ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีกลยุทธ์เป็นของตัวเอง อย่างสถาบันยุวทัศน์ฯ จะเน้นเรื่องการสื่อสาร ก็จะผลิตสื่อและข้อความรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ให้ทางสภาเด็กฯ นำไปใช้รณรงค์กับเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นต้น
ขณะที่ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ว่าการทำงานเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาพนันและพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนไทยตลอด ๑ ทศวรรษที่ผ่าน มีทิศทางในการขับเคลื่อนป้องกันได้ดีและมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นห่วงในแง่ปริมาณนักพนันวัยเยาว์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามเว็บไซต์และแอปพลิเคชันพนันออนไลน์ ซึ่งการทำงานต่อเนื่องในทศวรรษที่ ๒ จะเป็นไปในลักษณะ "เล่นพนันได้ แต่ต้องมีความรับชอบ" ทั้งตัวผู้เล่นและเจ้าของธุรกิจพนันในรูปแบบต่างๆ และเยาวชนเองต้องตระหนักให้มากขึ้น และลุกขึ้นมาเป็นหนึ่งแกนนำในการจัดการปัญหา ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนด้วยกันเอง
"ต้องเรียนว่าจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ในส่วนของเยาวชนเขาติดเกมไม่ได้ติดพนัน แต่เกมในปัจจุบันส่วนมากจะมีเรื่องพนันเข้ามาแอบแฝง สมองของวัยรุ่นเองก็มีธรรมชาติที่ชอบเข้าไปหาความเสี่ยง อยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าความเสี่ยงนั้นอาจทำให้ได้รางวัล หากว่าสมองของเด็กและวัยรุ่นถูกกระตุ้นด้วยการพนันรูปแบบต่างๆ สมองส่วน Striatum ซึ่งเปรียบเสมือนคันเร่งจะถูกใช้งานบ่อย เปรียบได้ เหมือนเป็นการฝึกฝนตั้งแต่อายุน้อยทำให้ สมองส่วนนนี้มีความว่องไวในการทำงานมากขึ้น จนเป็นไปได้ว่าสมองส่วนหน้า PFC : Prefrontal cortex ที่เปรียบเสมือนเบรค ไม่สามารถพัฒนาแข่งขันกับสมองส่วนคันเร่ง ได้ ซึ่งอาจมีผลให้เด็กหรือวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดวุฒิภาวะอย่างถาวร" ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต สธ. ระบุ
"ที่น่าจับตาต่อไปคือ อีสปอร์ต (e -Sport) หรือกิจกรรมการแข่งขันเกม (Game Competition) เพื่อร่วมเพื่อชิงเงินรางวัล ของรางวัล หรือเพื่อเสริมความรู้สึกทางจิตใจ การพนันบนอี-สปอร์ตมีความเสี่ยงที่จะชักนำนักเล่นรายใหม่ ไปสู่การเล่นพนันเช่นเดียวกับการทายผลกีฬาในโลกออนไลน์ ปัญหาคือการที่ผู้เล่นพนันมีความนิยมชมชอบกีฬาอีสปอร์ตหรือเกมอีสปอร์ต ก็จะทำให้มีการแทงพนันกับทีมนั้น เกมนั้น โดยไม่สนใจว่ากำลังเล่นพนันหรือเสพติดพนัน อีกทั้ง ลักษณะการพนันในอี-สปอร์ตมีการเชื่อมโยงเกมและอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ผ่านตัวโปรแกรม แอปพลิเคชัน เป็นกิจกรรมส่วนตัวที่ผู้เล่นสามารถทำได้ทั้งเล่นเกม ซื้อของ สนทนา จ่ายเงิน หรือรับชมการแข่งขันทัวร์นาเมนท์ต่างๆ ไปได้พร้อมกับการแทงพนันได้ทันที และผู้เล่น เกมส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เท่าทัน และตระหนักรู้ว่าเกมหรืออี-สปอร์ตนั้น มีส่วนเชื่อมโยงกับธุรกิจ การพนันออนไลน์" พญ.มธุรดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
พญ.มธุรดา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการป้องกันแล้ว งานดูแลและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ติดพนันก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่งเรียกว่า Pathological Gambling หรือโรคติดพนัน อาการคือแม้ผู้เล่นการพนันจะมีความทุกข์จาก การเล่นพนัน แต่ก็ หยุดไม่ได้ยังคงต้องเล่นต่อไป ผู้ที่มีปัญหาจากการพนันหรือผู้ติดการพนัน คือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ในทางการแพทย์เรียกว่าโรคติดพนัน(Gambling Disorder) จัดอยู่ในกลุ่มโรคเดียวกับโรคที่เกี่ยวกับสารเสพติด(Substance-related and Addictive Disorders) ที่ภาครัฐอย่าง สธ.และภาคีที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ลักษณะของผู้ติดพนันต้องมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย ๔ ข้อ ในระยะเวลา ๑ ปี คือ หมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนัน อยากเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถหักห้ามใจ หรือหยุดการเล่นได้ มีอาการหงุดหงิดหากต้องหยุดเล่นหรือไม่ได้เล่น เมื่อมีความไม่สบายใจจะไปเล่นการพนัน เมื่อเสียพนันก็อยากเล่นอีกเพื่อให้ได้เงินคืน อาจโกหกคนใกล้ชิดหรือแพทย์เรื่องการไปเล่นพนันหรือปกปิดจำนวนเงินที่ใช้ไปในการเล่นพนัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นเรื่องเงิน เพราะมีปัญหาการเงินจากการพนัน และมีความเสื่อมถอยในหน้าที่การงาน การเรียน หรือเสียสัมพันธ์กับคนรอบข้างเนื่องมาจากพนัน หากผู้ปกครองพบอาการดังกล่าวในบุตรหลาน สามารถโทรมาปรึกษาที่กรมสุขภาพจิตได้
ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การพนันได้ถูกยกระดับให้เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่มีผลกระทบต่อเด็กเยาวชน ครอบครัว ชุนชน สังคม รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ ผู้เล่นพนันจำนวนหนึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบติดตามมา ทั้งในด้านตัวบุคคลคือเป็นโรคติดพนัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ต่อคนในครอบครัวและสังคม เกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมและปัญหาหนี้สิน เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ พบว่ามีผู้เล่นพนันมีหนี้สินประมาณ ๑.๒ หมื่นล้านบาท เฉลี่ยที่ประมาณ ๑.๓ หมื่นบาท/คน
"ที่ผ่านมา สสส.ได้จัดตั้งแผนงานด้านการลดปัญหาจากการพนัน ได้พัฒนาเครือข่ายการทำงานเพื่อสนับสนุนการสร้างความตระหนักต่อปัญหา การพนัน การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน และการสนับสนุนนโยบายสาธารณะที่มีทิศทางไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน ประเด็นดังกล่าวนี้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ด้านการพัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าทันทางสังคม รวมทั้ง สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ในด้านการพัฒนาศักยภาพคนตลอดทั้งช่วงชีวิต และการเสริมสร้างในคนได้มีสุขภาวะที่ดี" กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว