กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเกือบทุกภูมิภาค เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการมีภาวะการแข่งขันสูง ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออก ประกอบกับปลายเดือนสิงหาคมเกิดสถานการณ์พายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อและ มีการเปิดสงครามการค้ารอบใหม่ แม้จีนจะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไปแล้ว 16 รายการ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.9 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.3 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ผู้ประกอบการคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ของผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของภาครัฐ คาดว่าจะส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการเดือนสิงหาคม 2562 จากการสำรวจ พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกสูงที่สุดถึง ร้อยละ 71.6 รองลงมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยน (ในมุมมองผู้ส่งออก) ร้อยละ 56.7 โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 30.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม ที่ 30.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 48.5, 44.5 และ 30.1 ตามลำดับ สำหรับด้านปัจจัยราคาน้ำมันภายหลังจากเกิด "เหตุโจมตีแหล่งน้ำมัน 2 แห่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย" เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันดิบหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุฯ และคิดเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วน 5% ของโลก (ปัจจุบันซาอุฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศในตะวันออกกลางไม่ได้นำเข้าผูกขาดเฉพาะซาอุดีอาระเบียประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อไทย เนื่องจากไทยมีการกันสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปไว้และสามารถใช้ได้ประมาณ 50 วัน ประกอบกับไทยสามารถซื้อน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจกระทบต่อราคาน้ำมันภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งจะกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนด้านน้ำมันด้วย ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล จะทำให้ไทยมีต้นทุนการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ล้านบาท และอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ทั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานอีกด้วย
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1) เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง 1-2 ปี และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกร การจัดโซนนิ่งพืชผลการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว
2) สนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมกีฬาและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ