กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๐ จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งจะเข้ารับรางวัลในงานวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รองศาสตราจารย์ ประอรนุช ตุลยาทร อายุ ๕๗ ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้อุทิศตนเพื่อกิจกรรมส่วนรวมทั้งภายในและภายนอก อาทิ กรรมการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์และสถาบันสมทบ ประธานโครงการสานสัมพันธ์พยาบาลในเครือข่ายพยาบาลมหิดล ประธานโครงการพัฒนาเครือข่ายแกนนำนักศึกษาพยาบาลสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ ฯลฯ และได้รับรางวัลศิษย์เก่าพยาบาลดีเด่น ของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทอาจารย์พยาบาล ประจำปี ๒๕๔๔ รางวัลการสอนภาคปฏิบัติดีเด่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี ๒๕๓๘ และ ปี ๒๕๔๓ รางวัลดีเด่นของสภาอาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี ๒๕๕๐ ท่านได้เขียนตำราทางการพยาบาล ปรับปรุงพัฒนาผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน การพัฒนา ประเมินและติดตามพฤติกรรมของนักศึกษา เป็นผู้จัดระเบียบการแต่งกายของนักศึกษา ริเริ่มจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรของนักศึกษาขึ้น เป็นผู้ที่มุ่งมั่นเสียสละอุทิศตนให้กับงาน ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ เพื่อความสุขสวัสดิ์ของนักศึกษาเสมอมา ตระหนักถึงความสำคัญด้านคุณธรรมจริยธรรม จึงจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาพยาบาลให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมในการเรียน การปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต จนเป็นที่ยอมรับของคณาจารย์และนักศึกษาตลอดมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิฑูรย์ ถิระโสภณ อายุ ๔๐ ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ที่กำกับดูแลนโยบายการบริหารและการดำเนินงานด้านการเรียนการสอนของสถาบันด้วยความทุ่มเท และเอาใจใส่ต่อการดูแลและติดตามงานของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอจนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานวิจัยด้วยการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของการทำงาน และต่อตัวอย่างทางชีวภาพที่ทำการวิจัย ได้แก่ สัตว์ทดลองต่าง ๆ คำนึงถึงคุณค่าของผลการศึกษาวิจัย จนเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับยกย่องของผู้ร่วมงานและสังคมมีผลงานตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ เรื่อง “Silencing of yellow head virus replication in penaeid shrimp cells by dsRNA. ในวารสาร Biochem Biophys Res Commun ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลที่ ๑ ประเภททั่วไป ชื่อชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ ของสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๓๙ และได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในการประชุมวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้มีความตั้งใจในการปฏิบัติงานด้วยความ อุตสาหะ มีน้ำใจต่อผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยพยายามชี้ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน
รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อายุ ๕๐ ปี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการอาหารและยาในการแก้ไขและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในชุมชน, ผู้เชี่ยวชาญของกองโภชนาการในการเสริมสารอาหารในอาหารเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ เป็นอาจารย์ที่มุ่งปลูกฝังให้ศิษย์ได้ศึกษาในพื้นที่จริง เพื่อความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์และแก้ปัญหาโภชนาการของชาติได้ มุ่งเน้นถึงส่วนรวมเป็นหลักตลอดระยะเวลา ๒๐ กว่าปีที่รับราชการ ได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการวิจัยที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย เช่น กรณีหน่อไม้เป็นพิษที่จังหวัดน่าน การผลิตน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท, เครื่องดื่ม พาสเจอร์ไรส์และผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะปิดสนิท จากผลงานวิจัยที่มุ่งเน้นถึงประโยชน์ประชาชน โดยเฉพาะระดับรากหญ้า งานวิจัยจึงสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงจนเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ จากผลงานดังกล่าวสามารถแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันถึง ๖ ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีผลงานทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Asian Workshop on Iron Fortification of food, Bangkok 2003 Seminar & Workshop on Optimizing Early Child Nutrition, Singapore 2003 และเป็นวิทยากรในการประชุมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Supporting National Food Safety Programs in Thailand , France (พ.ศ.๒๕๔๘) Fortification of Fish Source in Thailand , Cambodia (พ.ศ.๒๕๔๘) เป็นต้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์สัญญา สุขพณิชนันท์ อายุ ๔๖ ปี ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันที่สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) และวุฒิบัตรเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาพยาธิวิทยากายวิภาค ได้รับ Certificate in Hematopathology จาก Vanderbilt University, U.S.A. ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นทางปรีคลินิกของสภาอาจารย์ศิริราช ประจำปี ๒๕๔๒ รางวัลอาจารย์ดีเด่นทางปรีคลินิกจากทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ประจำปี ๒๕๔๓ และเกียรติบัตรยกย่องผู้ให้บริการเป็นเลิศของโรงพยาบาลศิริราช ประจำปี ๒๕๔๓ ถึง ๒ ครั้ง ตลอดระยะเวลา ๒๑ ปีที่รับราชการ ได้เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยทางโลหิตพยาธิวิทยา ให้สามารถออกผลการตรวจได้ภายในระยะเวลาที่ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด ควบคู่กับการพัฒนางานบริการเป็นงานวิจัยในลักษณะของ Routine to Research (R2R) โดยได้รวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และรายงานอุบัติการณ์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดต่างๆ ทางพยาธิวิทยาไว้มากที่สุดในประเทศไทย และมากเป็นอันดับที่ ๒ ของโลกสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทุกชนิด (รองจากประเทศญี่ปุ่น) นับเป็นผลงานวิจัยที่เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าวิจัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อไปอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งได้รับรางวัลตำราศิริราช-มหิดล ประเภทดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนพยาธิวิทยาในหัวข้อต่างๆ ให้นักศึกษาได้เข้าใจง่ายขึ้น อีกทั้งปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างของการเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดี และคนดีที่มีคุณภาพของสังคม
และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุลี ทองวิเชียร อายุ ๖๐ ปี เป็นประธานกรรมการบริหารหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป กรรมการบริหารหลักสูตรสาธารณสุขดุษฎีบัณฑิต สาขาการพยาบาลสาธารณสุข และประธานกรรมการบริการวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นการร่วมผลิตบัณฑิตสาขาการพยาบาลสาธารณสุขออกไปปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพและสถานศึกษาพยาบาลต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรพยาบาลวิชาชีพให้สามารถทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีผลงานทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศมากมาย อาทิ ผลงานวิชาการ หัวข้อ Effects of the family nursing diagnosis manual utilization on nursing diagnoses among family nurses in Bangkok Metropolis ซึ่งได้นำเสนอในการประชุม ณ ประเทศสวีเดน , เรื่อง ”รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่/ผู้ปกครอง และการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นในชุมชนกรุงเทพมหานคร”, เรื่อง “ทักษะชีวิตคู่รักคู่สมรสในประเทศไทย” เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ที่นำหลักการและประสบการณ์ดังกล่าวมาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในภาควิชา ด้วยความเป็นผู้มีจิตพัฒนา รักและศรัทธาในความเป็นครู และในวิชาชีพตลอดมา จนเป็นที่ยอมรับในความสามารถจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
จากผลงานของอาจารย์ทั้ง ๕ ท่าน ที่ได้พัฒนาการสอน มีผลงานการวิจัยที่ทรงคุณค่า และอุทิศตนแก่สังคมเพื่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงพิจารณาให้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๐ เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลข้างต้น โดยพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นในงาน ๓๙ ปี วันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ ณ สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา