กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- "แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019" โชว์ไฮไลท์ "แพคเกจจิ้งเออาร์ หมึกพิมพ์ฟู๊ดเซฟตี้ ท็อปดีไซน์แพคเกจจิ้ง" รับดีมานด์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มแปรรูป
- "ทีพลาส 2019" ชู "เครื่องมือทางการแพท์จากพลาสติก พลาสติกรีไซเคิล และพลาสติกที่ย่อยสลายได้" ตอบสนองเทรนด์ "สังคมสูงวัย – อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"
- "ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019" ขนทัพนวัตกรรม "เหล็ก ลวด ท่อ" ดันอุตฯ S-Curve และ New S-Curve อานิสงค์เมกะโปรเจกต์รัฐ ดันอุตเหล็กขยาย 10 – 14%
กระทรวงอุตสาหกรรม ชูนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมไทย เพิ่มมูลค่าเพิ่มการผลิตไทย ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนในไทยและต่างประเทศ ขนทัพนวัตกรรมล้ำสมัยในกลุ่มอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ พลาสติก ยาง ท่อและเหล็ก กว่า 5,000 ชิ้น ผ่านการจัด 4 สุดยอดเมกะเทรดแฟร์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบไปด้วยงาน แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ทีพลาส 2019 และ ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 2% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 20% จากอานิสงค์การเติบโตธุรกิจอาหารแปรรูป ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อมีแนวโน้มขยายตัว 10 – 14% จากการลงทุนเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตราว 3.9 – 4.0% ในปี 2563
นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสภาวการณ์อุตสาหกรรมในปัจจุบัน เทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมไทย ภายใต้โร้ดแม็ปไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมโรโบติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมไทย ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย ที่สร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย ให้ก้าวเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Value Chain ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตท่ามกลางการแข่งขัน
ขณะที่ อุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งกำลังเป็นที่จับตา และส่งผลต่อรายได้มวลรวมหลักให้กับประเทศ ด้านภาครัฐเองตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการศูนย์ปฏิรูปนวัตกรรม 4.0 และ อินโนสเปซ ที่ปัจจุบันมีงบลงทุนจากกลุ่มผู้จัดตั้งสูงถึง 710 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทย และภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำให้กับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่าง อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลาสติกและยาง และอุตสาหกรรมเหล็กลวด เคเบิล ท่อ ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันใหม่ๆ และมองหานวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย เอสเอ็มอี และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง นายธีระยุทธ กล่าวสรุป
ด้าน มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของประเทศ สร้างโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงาน 4 สุดยอดเมกะเทรดแฟร์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยภายในงานรวบรวมนวัตกรรมกว่า 5000 ชิ้น จาก 900 บริษัทชั้นนำทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น 8 อุตสาหกรรมต้นน้ำหลักของอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เพื่อตอบโจทย์อนาคตอุตสาหกรรมไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัย ได้แก่
- แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 มหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ และอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมผู้ผลิตนวัตกรรม และวัสดุการผลิตจากทั่วโลก โดยภายในงานมีไฮไลท์นวัตกรรมจัดแสดงอย่าง พาวิเลี่ยนที่รวบรวมผลงานดิจิทัลพรินต์ แพคเกจจิ้งเทคโนโลยีเออาร์ หมึกพิมพ์และสารเคลือบแพคเกจจิ้งปลอดสาร สำหรับแพคเกจจิ้งอาหาร ผ้าพิมพ์ลายที่ใช้ในงานเครื่องแต่งกาย รวมถึงผลงานแพคเกจจิ้งที่ชนะรางวัลประกวดจากทั่วโลก
- ทีพลาส 2019 นำเสนอนวัตกรรม และวัสดุการผลิตเพื่อใช้ในงานสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก และยาง โดยมีไฮไลท์ภายในงาน อาทิ พาวิเลี่ยนเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติก พลาสติกเพื่อใช้ในงานประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ พลาสติกรีไซเคิล และพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
- ไวเออร์ เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 และ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 มหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมลวด เคเบิล ท่อ และท่อร้อยสาย ซึ่งใช้มากในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve อย่างอุตสาหกรรมโรโบติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ โดยภายในงานมีไฮไลท์จัดแสดงอย่าง นวัตกรรมวัสดุเสริมแรง หรือวัสดุคอมโพสิท สำหรับอุตสาหกรรมราง และการก่อสร้าง ลวดไฟฟ้าแรงดันสูงที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงสัมมนาการคำนวณและเทรนด์ออกแบบสิ่งปลูกสร้างจากวิทยากรชื่อดัง
อีกหนึ่งจุดเด่นของงาน ได้แก่ บริการจับคู่การเจรจาธุรกิจ เพื่อเชื่อมต่อผู้ผลิต ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ตลอดจนงานประชุมและสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรม กว่า 50 งาน ซึ่งเหมาะกับทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการตลาด ฯลฯ เพื่อยกระดับศักยภาพทรัพยากรแรงงานไทยและอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทัน ช่วยสร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูดและยั่งยืนในตลาดโลก มร.เกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี จากสถิติพบว่า จีดีพีประเทศมาจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมถึงกว่า 27.4% ซึ่งคาดว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศเองมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านล้านบาท จากปัจจัยด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2571 โดยปัจจุบัน มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 2% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 20% โดยได้รับอานิสงค์หลักจากการเติบโตของธุรกิจอาหารแปรรูปที่มีแนวโน้มการส่งออกสูงถึง 1.79 ล้านล้านบาท ในปี 2580 ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อเอง มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ราว 7 ล้านตัน และคาดว่าภายในปี 2563 ที่จะปริมาณการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากทางภาครัฐจำนวนมาก จะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อขยายตัวราว 10 – 14% ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตราว 3.9 – 4.0% ในปี 2563
มหกรรม ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.wire-southeastasia.com และ www.tube-southeastasia.com มหกรรม แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 และ ทีพลาส 2019 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.pack-print.de และ www.tplas.com