กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มหาวิทยาลัยมหิดล
ในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดงาน ๓๙ ปี แห่งวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ณ สำนักงานอธิการบดี ศาลายา โดย ศาสตราจารย์คลินิก ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๐ ซึ่งพิจารณาคัดเลือกจาก ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีคุณสมบัติดีเด่น ทั้งในด้านการครองตน ครองคน และครองงาน ตลอดจนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ สามารถเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นได้
รางวัลข้าราชการดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๐ มี ๓ ท่าน คือ อาจารย์ นายแพทย์โยเซฟ ซื่อเพียรธรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวนิสากร คงศรี นักวิชาการอาชีวบำบัด ระดับ ๖ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางมณฑา มณีเสาวภาคย์ พยาบาลประจำหน่วยตรวจโรคผ่าตัดเล็กและชะแผล ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลลูกจ้างดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๐ มี ๒ ประเภท ประเภทลูกจ้างประจำเงินงบประมาณ ได้แก่ นางสำรวย สรวมนาม พนักงานห้องทดลอง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวศิริพร อิทธิโชติ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกอายุรกรรม งานการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางกัญภร เขียวคำรพ นักการภารโรง สำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ได้แก่ อาจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายธวัชชัย ก้านศรีรัตน์ งานโสตทัศนศึกษา สำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ นายแพทย์โยเซฟ ซื่อเพียรธรรม หัวหน้าหน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม และหัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยออทิสซึ่ม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๕๐ ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการประจำคณะฯ และเลขาธิการสภาอาจารย์รามาธิบดี ทางด้านวิชาการ อาจารย์นายแพทย์โยเซฟได้รับการยอมรับในระดับชาติว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็ก รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กออทิสติก มีความสนใจต่อปัญหาทางสังคมของเด็ก เช่น เด็กที่ถูกทารุณกรรมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ เป็นหมอที่รักษาผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Medicine) อย่างแท้จริง อาจารย์นายแพทย์โยเซฟไม่ได้คำนึงถึงแต่ความเจ็บป่วยเท่านั้น หากแต่ยังมองไปถึงผลกระทบที่เกิดจากความเจ็บป่วยนั้นด้วย โดยได้เสียสละเวลาและทุนทรัพย์ส่วนตัวติดตามรักษาผู้ป่วย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในทุกด้าน โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งทางวิชาการ นับเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญยิ่ง
นางสาวนิสากร คงศรี นักวิชาการอาชีวบำบัด ระดับ ๖ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๓๑ ปี เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาอุปกรณ์ประคองมือ Cock-up splint ชนิดผ้าใบสำหรับผู้ป่วย Carpal tunnel syndrome ซึ่งมักได้รับความทรมานจากการปวดบริเวณข้อมือเนื่องจากการใช้ข้อมือผิดท่า ทำให้เกิดแรงกดไปที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือ อุปกรณ์เสริม (splint) มีความจำเป็นอย่างมากในการช่วยส่งเสริมให้มืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ สามารถลดค่าใช้จ่าย และเหมาะสมกับการใช้งานตามสภาพจริง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องการ support มาก จึงมีการลดผ้าใบส่วนบนลง คงเหลือไว้แค่เพียงส่วนที่ห่อหุ้มตัวอลูมิเนียมเท่านั้น และใช้สายไนล่อนแทนตัว Velcro บางส่วน ทำให้ตัว splint ผ้าใบใหม่นี้ โปร่ง และระบายอากาศได้ดี ทำให้ไม่อึดอัดขณะสวมใส่ ผู้ใช้จึงสามารถใส่ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติโดยข้อมูลไม่ผิดรูป ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลโครงการติดดาว ประเภทนวัตกรรมดีเด่นประจำปี ๒๕๔๙ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นางมณฑา มณีเสาวภาคย์ พยาบาลประจำหน่วยตรวจโรคผ่าตัดเล็กและชะแผล ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๕๗ ปี มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการผู้ป่วยโรคทางด้านศัลยกรรมที่มารับการบริการ โดยการจัดเตรียมอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ในห้องผ่าตัดก่อนล่วงหน้าให้พร้อมด้วยความละเอียดรอบคอบ ให้บริการโดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ ทั้งผู้ป่วย ญาติ และผู้ร่วมงาน เคารพในสิทธิของผู้ป่วย ให้บริการด้วยความเต็มใจ ช่วยเหลือ และแนะนำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้รับบริการด้วยความเสมอภาค เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดีกับผู้ร่วมงานทุกระดับ ควบคุมอารมณ์ได้ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นตลอดเวลา มีผลงานการประดิษฐ์ “Montha’s Chair” (Wound Chair) เพื่อใช้ทดแทน “ม้าข้างเตียง” หรือ เก้าอี้รองเท้าของเดิม ซึ่งเป็นการไม่สะดวกสบายกับผู้ป่วยและผู้ร่วมงาน โดยนำเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังพอใช้งานได้มาปรับปรุงเพื่อนำมากลับมาใช้งานใหม่ ช่วยลดต้นทุนของหน่วยงาน อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการล้างแผลด้วยความสะดวกสบายรวดเร็ว และปลอดภัยจากการเคลื่อนย้าย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลโครงการติดดาว ประเภทนวัตกรรมดีเด่นประจำปี ๒๕๔๙ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสำรวย สรวมนาม พนักงานห้องทดลอง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๕๒ ปี เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรป้องกันยุงกัด โดยใช้ความรู้จากการอบรมการผลิตครีม และโลชั่น ผสมกับสมุนไพรเพื่อการถนอมผิว มาทดลองทำเองที่ห้องปฏิบัติการ และพยายามนำน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ มาผสมกับครีมที่ได้ทดลองทำขึ้นตามสูตรที่ได้อบรมมา เพื่อนำไปทดสอบว่าครีมที่ผสมกับน้ำมันหอมระเหยในสูตรต่างๆ จำนวน ๓ สูตร โดยสูตรที่มีประสิทธิภาพป้องกันยุงกัดได้นานที่สุดประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที คือ สูตรผสมครีมกับน้ำมันหอมระเหย ๔ ชนิด ได้แก่ น้ำมันตะไคร้หอม ธัมมัง มะกรูด และ มะเข่น ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดสอบเพื่อยืนหยัดประสิทธิภาพโดยใช้วิธีการทดสอบที่เป็นมาตรฐานขององค์การอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก เตรียมเผยแพร่สู่ชุมชนต่อไป นอกจากนี้ นางสำรวยยังได้นำเสนอแนวความคิดการชะลอหรือยืดวงจรชีวิตในการเลี้ยงยุงรำคาญ (Culex) โดยให้ชะลอการฟักของไข่ยุง ด้วยการนำไข่ยุงมาแช่ตู้เย็น ๔ องศาเซ็นติเกรด เป็นเวลา ๑ — ๓ วัน ผลการทดลองปรากฎว่าเมื่อนำไข่ยุงที่แช่ในตู้เย็นนั้นมาไว้ในถาดที่มีน้ำเพื่อให้ฟักตัว ไข่เหล่านั้นก็ยังสามารถฟักตัวเป็นลูกน้ำได้
นางสาวศิริพร อิทธิโชติ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกอายุรกรรม งานการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๔๓ ปี นางสาวศิริพรเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งของหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกอายุรกรรม ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการออกบัตรนัดและใบสั่งส่งตรวจ speciemen ต่างๆ ที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีมากเฉลี่ย ๓๐๐ — ๔๐๐ รายต่อวัน เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างงานในระบบการนัดคอมพิวเตอร์ในกระบวนการจัดการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการนัดตรวจที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการบริการ เช่น จัดทำชุดรายการสิ่งส่งตรวจตามคำแนะนำของงานเวชสารสนเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกอายุรกรรมลดระยะเวลาการพิมพ์ใบ request ไปได้อย่างมาก และช่วยลดความผิดพลาดในการพิมพ์รหัสคำสั่งกรณีแพทย์สั่งตรวจหลายรายการ นางสาวศิริพรมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา มีการติดตามงานที่ได้รับมอบหมาย ตั้งใจทำงาน เอาใจใส่ แสดงออกให้เห็นถึงความพร้อมเสมอที่จะปฏิบัติงานได้ทุกสถานการณ์ เคยได้รับรางวัลลูกจ้างดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล และลูกจ้างดีเด่นของภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นางกัญภร เขียวคำรพ นักการภารโรง สำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๔๗ ปี ปฏิบัติงานในหน้าที่เตรียมและจัดตั้งอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ได้รับมอบหมายให้เตรียมเอกสารประกอบการเรียนการสอน ตรวจสอบความเรียบร้อยของข้อสอบ และคุมสอบ ดำเนินงานคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์-บันทึกข้อมูลลงใบลากิจ ลาป่วย ลาพักผ่อน ลงจดหมายลงทะเบียนตามภาคฯ ปฏิบัติงาน ณ ห้องสมุดคอมพิวเตอร์ รวมทั้งทำความสะอาดห้องเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานในคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พยายามศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หาความรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่และงานที่ตนเองเกี่ยวข้องมาตลอด และได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน มีความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบสูง ตั้งใจปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ นางกัญภรเป็นผู้ประพฤติดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซื่อตรง และยึดมั่นในศีลธรรม เสียสละตลอดระยะเวลาที่ผ่านอดทนดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามอัตภาพ
อาจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๓๔ ปี เป็นผู้วิจัยโครงการพัฒนาแผ่นอะคริลิคใส ได้แก่ โครงการการพัฒนาแผ่นอะคริลิกใสทนแรงกระแทกสูง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการการทนแรงกระแทกสูง เช่น หน้าหมวกกันน็อก เกราะกันกระสุน, โล่ปราบจลาจล, อ่างอาบน้ำ เป็นต้น และ โครงการอะคริลิกใสใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำเอาขยะอุตสาหกรรมกลับมาแปรใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อมได้ โดยทั้งสองโครงการวิจัยนี้มีบริษัท แพนเอเชียอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนเข้าเป็นผู้วิจัยร่วม อาจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต เคยได้รับผลงานวิจัยดีเด่น จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๖ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี ๒๕๕๐ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหลักการครองตนโดยถือหลักยึดมั่นในคำสั่งสอนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่น ตั้งใจ สร้างสรรค์ผลงานเพื่อพัฒนาประเทศ ปัจจุบันอาจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ดำรงตำแหน่งประธานหลักสูตรนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม(นานาชาติ) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
นายธวัชชัย ก้านศรีรัตน์ งานโสตทัศนศึกษา สำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ ๓๖ ปี ความรับผิดชอบด้านผลิตสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ทั้งในรูปแบบซีดีรอม และเว็บไซต์ โดยพัฒนางานร่วมกับภาควิชาต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ที่มีความสนใจในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ โดยผลงานบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการดูดเสมหะสำหรับดูแล เป็นซีดีบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นเรื่องแรกของประเทศไทย ได้รับรางวัล Dean Innovation Awards ปี ๒๕๔๙ นอกจากนี้ เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ www.thai-sle.com เว็บไซต์แรกของประเทศไทยที่รวบรวมเนื้อหาเฉพาะโรคเอสแอลอี โดยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ SLE มากที่สุด โดยนายธวัชชัยมีส่วนในการคิดชื่อเว็บไซต์ ตลอดจนก่อตั้ง บริหารจัดการ และพัฒนาด้านเทคนิค โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ในปัจจุบัน เว็บไซต์ www.thai-sle.com ได้ติด ๑ — ๕ ของคำสำคัญ คำว่า “sle”, “เอสแอลอี” โดยเว็บค้นหา google.com และ/หรือ google.co.th
นอกจากผู้ได้รับรางวัลทั้ง ๘ ท่าน ได้รับการเชิดชูเกียรติและเข้ารับรางวัลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น ในงาน ๓๙ ปีแห่งวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ ณ สำนักงานอธิการบดี ศาลายา แล้ว ข้าราชการดีเด่น และลูกจ้างดีเด่น ประเภทลูกจ้างประจำเงินงบประมาณ จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลครุฑทองคำ ในงานวันข้าราชการพลเรือน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล อีกด้วย