กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลิกโฉมภาคเกษตร ปั้น "โรงเรือนมะเขือเทศอัจฉริยะ" เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตร 4.0 แก้ปัญหายากจน มุ่งขับเคลื่อนเป็นแหล่งวิจัยงานด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศ พร้อมส่งเสริมการตลาดและระบบขนส่ง หวังเพิ่มมูลค่าสินค้า สู่การพัฒนา Big Data
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชผักในโรงเรือน ภายใต้โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภออู่ทอง (ศพก.) วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มุ่งเน้นในการยกระดับขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตร โดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีเป้าหมายในการสร้าง GovTech/Big data ของกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพื่อยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 % อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก แต่เกษตรกรกลับมีหนี้สินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนสู่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยใช้ศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึง Young Smart Farmer กว่า 12,000 ราย อาสาสมัครเกษตรกว่า 75,000 ราย และเกษตรแปลงใหญ่อีกกว่า 6,000 แปลง พื้นที่กว่า 5 ล้านไร่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใน 2 ปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งจะต้องสร้างหลักประกันรายได้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน สามารถดึงลูกหลานเกษตรกรกลับมาทำอาชีพเกษตรได้ ลดปัญหาหนี้สิน ไร้ที่ดินทำกิน เป็นต้น
กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น มีภารกิจจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ โดยนำร่องในพืชเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด และมะเขือเทศ (ในโรงเรือน) นอกจากด้านการผลิตแล้ว ยังมุ่งเน้นในการจัดเก็บและนำข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ทางการเกษตรต่างๆ ไปสู่การพัฒนา Big Data เกษตรอัจฉริยะ และ IoT Platform เพื่อให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ในการวางแผนตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านการตลาดและระบบขนส่งภาคการเกษตร ที่กระทรวงเกษตรฯ พยายามบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการผลผลิตทางการเกษตร เช่น ระบบรถห้องเย็นขนส่งสินค้า ระบบโลจิสติกส์ ระบบการค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในตลาดออนไลน์ได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ Big Data Platform มาช่วยในการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
"กระบวนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะนั้นจะต้องเชื่อมโยงกันทั้ง 3 คลื่น คือ 1. คลื่นการผลิต โดยใช้เครื่องมือ นวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ IOT เซนเซอร์ ต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต และการตรวจโรคพืช ธาตุอาหารในดิน คุณภาพน้ำ สภาพอากาศ เป็นต้น และรวบรวมข้อมูลเชื่อมโยงไปสู่การทำ Big Data ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด 2. คลื่นการแปรรูป โดยสร้างฐานการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และ 3. คลื่นการตลาด โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมโยงการทำงานของทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ทั่วโลก" นายอลงกรณ์ กล่าว
นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า การจัดงานสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชผัก (ในสภาพโรงเรือน) ดำเนินการ ณ ศูนย์เครือข่าย ศพก. วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยมีคุณชาตรี รักธรรม เป็นประธานศูนย์ ภายในงานมีการสาธิตการทำงานและระบบควบคุมโรงเรือนปลูกพืช และนิทรรศการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรอัจฉริยะ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ Start up ด้านการเกษตรอัจฉริยะ มีเกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่ปลูกพืชในโรงเรือน และปลูกพืชผักใน จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมจำนวน ๑๕๐ คน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แปลงเรียนรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ประจักษ์ สามารถนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมไปปรับใช้อย่างก้าวกระโดดในการผลิตพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"ผักนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และการผลิตพืชผักในปัจจุบันเกษตรกรหันมาผลิตในโรงเรือนเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในกระบวนการการผลิต ซึ่งเป็นแนวโน้มของการผลิตพืชในอนาคต ดังนั้นการขับเคลื่อนโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสมในประเทศไทย ตลอดจนเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของนักวิจัย เพื่อศึกษาวิจัยงานด้านเกษตรอัจฉริยะในด้านที่ยังขาดให้สมบูรณ์" นางสาววราภรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือนมีการดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงาน ในรูปแบบประชารัฐ ทั้งจากผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำจากจีน ที่ยินดีให้การสนับสนุน อาทิ บริษัท Shanghai Zuoanxiuhul Electronic Technology จำกัด ผู้ผลิตเซนเซอร์ทางการเกษตร เครื่องผสมปุ๋ยสำหรับระบบน้ำหยดแบบอัตโนมัติ และ IoT Platform ด้านการเกษตร โดยสนับสนุนเซนเซอร์ทางการเกษตร อาทิ เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพดิน เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องผสมและจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ และกล้องตรวจวัดการเจริญเติบโตของพืช โดยนำมาทดสอบในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะมะเขือเทศแห่งนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านการผลิตพืช ตลอดจนนักวิชาการเกษตรและวิศวกรการเกษตร ร่วมดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งศูนย์เครือข่าย ศพก. อำเภออู่ทอง สนับสนุนพื้นที่โรงเรือนในการดำเนินงาน โดยมีการเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิตพืชอัจฉริยะ (มะเขือเทศ) กับกรรมวิธีการผลิตของเกษตรกรแบบดั้งเดิม ข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ต่างๆ จะถูกส่งผ่านระบบคลาวน์ (Cloud) เพื่อจัดเก็บ ประมวลผล และสั่งการการทำงานของระบบด้วยการควบคุมระยะไกล ผ่านระบบ IoT (Internet of Things) และการตั้งค่าการทำงานที่เครื่อง และมีนักวิชาการลงพื้นทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลควบคู่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ข้อมูลยังถูกประมวลเพื่อจัดทำ Big Data และ IoT Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการทำการเกษตรแม่นยำในอนาคต ซึ่งหากมีการขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมชนิดพืชและพื้นที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่ภาครัฐจะนำข้อมูลมาบริหารจัดการและกำหนดทิศทางนโยบายด้านการเกษตรของประเทศ เพราะเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์