กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCC ครั้งที่ 1/2551 มูลค่าไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2555 ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยเงินที่ได้รับจากหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระและนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ
อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทมีการกระจายตัวของรายได้ที่ดี ความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจหลัก เครือข่ายการตลาดที่กว้างขวางและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้าในประเทศ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้การที่ SCC มีความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่สูงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้และความคล่องตัวทางกางเงินของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม SCC ต้องเผชิญกับส่วนต่างกำไรที่ลดลง อันเป็นผลมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น และยังมีผลกระทบจากการที่บริษัทประกอบธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมที่มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง ปัจจัยความเสี่ยงอื่นของบริษัทยังรวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินดอลล่าร์ ซึ่งกระทบต่อรายได้จากการส่งออก และ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้าง (Execution Risk) ในส่วนของการลงทุนใหม่
ในปี 2550 SCC มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องมาจากราคาขายที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) ลดลง 16% มาที่ระดับ 3.87 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานของกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และธุรกิจกระดาษ นอกจากนี้บริษัทยังได้รับมีผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทในส่วนของรายได้จากการส่งออก อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) (EBITDA (pre-dividend income) Margins) ลดลงมาอยู่ที่ 15% ในปี 2550 จาก 18% ในปี 2549 เมื่อพิจารณารวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม บริษัทมี EBITDA 4.73 หมื่นล้านบาท ในปี 2550 ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) ได้ลดความแข็งแกร่งลงมาที่ระดับ 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2550 จากระดับ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2549 เนื่องจาก EBITDA ที่ลดลง
แนวโน้มผลประกอบการในปี 2551 น่าจะยังคงไม่สดใสนัก เนื่องจากราคาของผลิตภัณท์ปิโตรเคมีที่น่าจะลดลงและผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานที่สูงในส่วนของธุรกิจซีเมนต์และธุรกิจกระดาษ อีกทั้งยังมีผลกระทบจากเงินบาทที่น่าจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลล่าร์ แผนการลงทุนที่สูงและความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของ SCC น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3.0 เท่า ในปี 2551 ถึง 2552 ถึงแม้ว่าบริษัทน่าจะรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในเป้าหมายระยะยาวที่ 2.5 เท่า ได้หลังจากนั้น
SCC ได้วางแผนการลงทุนระหว่างปี 2551 ถึงปี 2553 เป็นเงินจำนวน 9.0 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินลงทุนในโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองและโครงการปิโตรเคมีปลายน้ำ (คิดเป็นสัดส่วน 76% ของแผนการลงทุนที่กำหนดไว้ทั้งหมด) โครงการสร้างโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม โครงการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศของกระดาษพิมพ์เขียนและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในช่วงพิจารณาโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย โครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่ประเทศเวียดนาม โครงการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ที่ประเทศอินโดนีเซียและความเป็นไปได้ที่จะซื้อโรงกล่องบรรจุภัณฑ์เพิ่มอีกในภูมิภาคนี้