กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายอนันท์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงและสหกรณ์ กับ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ท็อปคอน คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท Shanghai Zuoanxiuhul Electronic Technology จำกัด (บริษัท เซี่ยงไฮ้ จั๊วอั้นซินฮุยอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี จำกัด) ภายใต้โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำแนวคิด "เกษตรอัจฉริยะ" หรือ "Smart Agriculture" คือการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่จะต้องมีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ (Productivity)
ทำน้อยได้มาก โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขนส่ง ตลอดจนการแปรรูป เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยในภาคการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ตลอดจนแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมของภาคการเกษตรของประเทศไทยกว่า 7 ล้านครัวเรือน ให้มีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก ตามนโยบาย Thailand 4.0
"จากการรายงานของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แสวงหาความร่วมมือและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ สำหรับเป็นต้นแบบให้พี่น้องเกษตรกรได้เลือกนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และควรนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ได้จากแปลงเรียนรู้เหล่านี้ไปขยายผลไปสู่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ ซึ่งขณะนี้มีเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 แปลง ทั่วประเทศ โดยควรดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ Start up เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำการเกษตรในยุคดิจิทัล ที่เป็นการใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ทางการเกษตรต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ ประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินใจ โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน เพื่อการสั่งการและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งได้มีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบ Big Data Platform ด้านเกษตร จากข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ทางการเกษตรและนักวิจัยในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งควรนำไปแนะนำและขยายให้เกษตรกรแปลงใหญ่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และเชื่อมโยงไปสู่ระบบการขนส่งสินค้าการเกษตร และการตลาดโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ในอนาคต" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีแปลงเรียนรู้การผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด และมะเขือเทศ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสม สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ลดปัจจัยการผลิต และประหยัดเวลา สำหรับใช้เป็นต้นแบบ/แหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป และได้ Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการแปลงปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบช่วยในการตัดสินใจสำหรับการผลิตให้แก่เกษตรกร การคาดการณ์ การเตือนภัย การประเมินผลผลิต รวมถึงสามารถช่วยสนับสนุนให้ภาครัฐใช้ข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ทั้งยังช่วยกำหนดทิศทางภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไปในอนาคตด้วย