กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ให้หดตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี มูลค่าส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2562 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวลึกในสินค้าส่งออกหลัก อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง อย่างเคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยหดตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวเป็นบวกสวนทางกับภาพรวม จากสินค้าส่งออกในรายการเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้ารถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งสะท้อนถึงผลบวกจากสงครามการค้าที่มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตลาดจีน
- การส่งออกทองคำในเดือนส.ค. ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูงตามราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำ การส่งออกไทยในเดือนส.ค. 62 จะหดตัวที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่น่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ในระยะอันใกล้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้ยังมีความต้องการทองคำในตลาดโลกในระดับสูง โดยราคาทองคำในตลาดโลกยังมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า ในเดือนก.ย. 62 การส่งออกทองคำ ยังคงเป็นแรงหนุนต่อมูลค่าการส่งออกรวมของไทย
- การส่งออกของไทยในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวเข้าหากรอบล่างของประมาณการส่งออกไทยที่ -2.0 ถึง 1.0 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้การส่งออกทองคำจะขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่อง แต่คงไม่เพียงพอที่ชดเชยผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยประเมินว่า หากต้องการให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไม่หดตัวในปีนี้ มูลค่าส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีอีก 4 เดือนจะต้องขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี หรือมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยราวอีกเดือนละ 21,720 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 20,761ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งภายใต้บรรยากาศความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก
- แม้ว่าการส่งออกโดยรวมจะหดตัวลง ดุลการค้ายังเกินดุลในระดับสูง เป็นแรงหนุนค่าเงินบาทให้แข็งค่า การเกินดุลการค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้าจากทองคำ โดยนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 62 ที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทำให้ไทยมีการส่งออกทองคำมากกว่าการนำเข้า ซึ่งหากหักผลของการส่งออก-นำเข้าทองคำ การเกินดุลการค้าจะหายไปราวครึ่งหนึ่ง และในเดือนก.ค. 62 มีการขาดดุลการค้า ดังนั้น การเกินดุลการค้าโดยรวมที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความต้องการสภาพคล่องเงินบาทยังมีอยู่มาก และหนุนให้ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น