กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมประมง
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมงกำหนดจัดงาน "วันสถาปนากรมประมงครบรอบปีที่ 93" และ "วันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2562"เผยผลสำเร็จการปฏิรูปภาคการประมงไทย พร้อมวางระบบให้การขับเคลื่อนทุกภารกิจมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยในโอกาสนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธาน การเปิดงานและร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์จำนวน 1,930,000ตัว ลงสู่ 4 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่สำคัญของไทย พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดโลโก้และภาพถ่าย "ปลากัดไทย (Siamese Fishing Fish) : สัตว์น้ำประจำชาติ" รวมถึงมอบโล่รางวัลแก่เกษตรกร และข้าราชการดีเด่นด้วย
นายอดิศร พร้อมเทพอธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังพิธีเปิดงาน "วันสถาปนากรมประมงครบรอบปีที่ 93" และ "วันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2562" ว่ากรมประมงได้ให้สำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา
ภาคการประมงของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับเกษตรกรชาวประมง และประชาชนมาโดยตลอดแต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ระบบธุรกิจ และกติกาสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง ทั้งการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรม การแปรูปสัตว์น้ำ ทำให้ประเทศไทยต้องมีการ "ปฏิรูปการประมง" ทั้งระบบ โดยการปรับปรุง การสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงตลอดสายการผลิต รวมถึงการผลักดันงานวิจัยของนักวิชาการให้สามารถนำไปต่อยอดเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ผลจากการปฏิรูปการประมงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มให้เห็นถึงความสัมฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้น โดยในปี 2562 ความสำเร็จประการแรก ที่ทำให้เรามั่นใจถึงทิศทางการดำเนินการว่าจะนำพาไปสู่ "การประมงที่ยั่งยืน" คือการที่สหภาพยุโรป "ปลดใบเหลือง" ให้ประเทศไทย พร้อมนี้ผลักดันให้เป็นแกนนำในภูมิภาคในการต่อต้าน IUU และแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประเทศต่างๆ และยังได้รับรางวัล Stop IUU Fishing Award สำหรับระบบการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ประมง โดย International MCS Network ซึ่งรางวัลดังกล่าว จะเป็นการให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรในโลกนี้ ที่มีความโดดเด่นในการต่อต้าน IUU นอกจากนี้ กรมประมงยังคว้ารางวัล "เลิศรัฐ" ได้ถึง 6 รางวัลด้วยกัน อาทิ การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 ระบบสารสนเทศในการออกใบอนุญาตให้ทำการงานในเรือประมง (Single Window 4 Fishing Fleet) การควบคุมการทำการประมงพาณิชย์ แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบ Fishing Info และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนต่างๆ แต่ความสำเร็จที่เหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ "ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเริ่มฟื้นคืนมา" และชาวประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงพื้นบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมประมงยังจะขับเคลื่อนทุกภารกิจเพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป เพื่อให้เกษตรกรและชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเน้นฟื้นฟูทรัพยากรและสนับสนุนอาชีพการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากร ส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ ลดต้นทุน อุปสรรคในการประกอบอาชีพ รวมถึงส่งเสริม การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภูมิปัญญามาเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างจุดแข็งให้สินค้าประมงไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
สำหรับการจัดงานในวันนี้ กรมประมงได้จัดกิจกรรมของวันสถาปนากรมประมง ครบรอบปีที่ 93 และกิจกรรมวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2562 ขึ้นพร้อมกัน โดยมีพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์
ใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2. กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา 3. หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ 4. อ่าวประจวบฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,930,000 ตัว สำหรับพันธุ์ปลาที่ใช้ปล่อย ประกอบด้วย ปลาพวง ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ปลาสร้อยขาว ปลาหมอ ปลาสลิด ปลากาดำ ปลาสวาย ปลากะพง กุ้งก้ามกราม และกุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ ยังมีพิธีการมอบรางวัลประกวดออกแบบสัญลักษณ์ (Logo) และรางวัลภาพถ่าย "ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish) : สัตว์น้ำประจำชาติ" รวมถึงการมอบโล่/รางวัลให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการประมงไทย อาทิ เกษตรกรดีเด่น เกษตรกรแปลงใหญ่ดีเด่น ข้าราชการดีเด่น รางวัลโครงการธนาคารสินค้าเกษตร (ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม) รางวัลกลุ่มเกษตรกรได้รับมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด รางวัล Smart PIPO งานวิจัยวิชาการประมงดีเด่น/ชมเชย และการประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมประมง ผู้เกษียณอายุซึ่งมีคุณูประการต่อกรมประมงด้วย
อธิบดีกล่าวปิดท้ายว่า ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 93 กรมประมงจะยังคงยืนหยัดเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนภาคการประมงของไทยเพื่อให้เกษตรกร ชาวประมง และประชาชนในประเทศได้มีทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ใช้ อย่างยั่งยืนต่อไป