NIDA Poll จะเรียกร้องอะไรจากนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Monday September 23, 2019 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "จะเรียกร้องอะไรจากนายกรัฐมนตรี" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,266 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียกร้องจากนายกรัฐมนตรี และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเคยชินกับสิ่งที่เคยได้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงสิ่งที่จะเรียกร้องเป็นเรื่องแรก หากพบนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.95 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไข ความเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไม่เรียกร้องอะไรเลย ร้อยละ 13.35 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนจากภัยทางธรรมชาติ ร้อยละ 4.35 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 3.63 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.55 ระบุว่า อยากให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 2.92 ระบุว่า ขอให้รัฐแจกเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ร้อยละ 2.29 ระบุว่า แก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 2.21 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม ร้อยละ 1.97 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 1.50 ระบุว่า ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 3.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จัดการระบบข้าราชการใหม่ พัฒนาระบบการศึกษาไทย เพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน สร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ และแก้ไขปัญหาเรื่องการคมนาคม เช่น การสร้างถนน ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากขอให้นายกรัฐมนตรีควบคุมอารมณ์และคำพูด และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า "ประชาชนเคยชินกับสิ่งที่เคยได้ โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้" พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเอาใจใส่ให้มากกว่านี้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่สมควรกล่าวแบบนี้กับประชาชน รองลงมา ร้อยละ 19.51 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ประชาชนยังรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ประชาชนบางกลุ่มเอาแต่ได้ เห็นแก่ตัว ชอบความสบาย ไม่รู้จักปรับตัว และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง ขณะที่บางส่วนระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถูกต้องแล้ว เนื่องจากนิสัยคนไทยบางกลุ่มชอบเรียกร้องมากเกินไป ร้อยละ 15.09 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ระดับการศึกษาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ย่อมมีข้อถกเถียงโต้แย้งกันอยู่แล้ว บางกลุ่มก็เป็นตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว แต่บางกลุ่มก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนเดือดร้อนจริง ๆ และสามารถเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ ร้อยละ 9.40 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มเป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะเคยได้รับกับสิ่งที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยปฏิบัติตามกันมาแบบนี้จนเกิดความเคยชิน ขณะที่บางส่วนระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถูกต้องแล้ว และร้อยละ 3.16 ระบุว่า ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า "เห็นด้วย" "ค่อนข้างเห็นด้วย" และ "ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ" กับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ "ประชาชนเคยชินกับสิ่งที่เคยได้ โดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้" พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.76 ระบุว่า ประชาชนเคยตัวไม่รู้จักปรับตัวช่วยเหลือตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 24.38 ระบุว่า ต้นเหตุ มาจากนโยบายประชานิยมของ ทุกรัฐบาล ร้อยละ 13.79 ระบุว่า ความเดือดร้อนของประชาชนมีมากกว่าที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ร้อยละ 12.07 ระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ร้อยละ 10.35 ระบุว่า ข้าราชการไม่ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ทำให้ประชาชนต้องเรียกร้องจากรัฐบาลอยู่เรื่อย ๆ และร้อยละ 6.65 ระบุว่า ไม่มีความเห็น/ไม่แน่ใจ/ไม่สนใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.35 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.09 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.57 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.37 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.63 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.79 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 14.69 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.62 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.78 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 25.12 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.31 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.95 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.03 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.71 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.64 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.38 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.19 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 34.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.31 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.87 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.64 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.03 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.03 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.48 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.09 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.11 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.64 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.53 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.43 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.69 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.03 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 21.80 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.82 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.50 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.87 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ