กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จต้นแบบหมู่บ้าน CIV เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สัมผัสวิถีชุมชนมอญ อัตลักษณ์ท้องถิ่น อัญมณีริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ปลื้มนักท่องเที่ยวเพิ่มร้อยละ 70 พร้อมพัฒนาต่อยอดสร้างมาตรฐานท่องเที่ยวโฮมสเตย์ จัดแพคเกจกระจายรายได้ให้ชุมชน
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านรายทั่วประเทศ โดยหนึ่งในโครงการที่ กสอ. ได้ดำเนินการ คือโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) หรือ "หมู่บ้าน CIV" ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดออนไลน์และการเชื่อมโยงการตลาดผ่าน Digital Platform โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว สำหรับชุมชนเกาะเกร็ด เป็น 1 ใน 9 ชุมชนพื้นที่นำร่องต้นแบบหมู่บ้าน CIV ระยะแรกที่มีความพร้อม ทั้งด้านศักยภาพ มีสภาพภูมิประเทศที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวและการคมนาคมสะดวก นอกจากนี้ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีการประกอบการชีพ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่คนภายนอกสามารถเข้าไปเรียนรู้กับคนในชุมชนได้ และมีการบริหารจัดการที่ดี
"เดิมมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะเกร็ดร้อยละ 40 แต่เมื่อ กสอ. ได้เข้ามาดำเนินโครงการหมู่บ้าน CIV พบว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเพื่อให้การท่องเที่ยวเกาะเกร็ดมีความน่าสนใจมากขึ้น จึงมีการจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ เช่น การกำหนดปฏิทินการท่องเที่ยว การทำแพ็คเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน รวมถึงการสร้างกิจกรรมของชุมชน โดยเฉพาะการแสดงที่เน้นชูอัตลักษณ์ชาวมอญ ซึ่งเกาะเกร็ดมีคนไทยเชื้อสายมอญอยู่มากถึงร้อยละ 40 อีกร้อยละ 15 เป็นชาวไทยมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย นำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมในพื้นที่ ส่วนผู้สูงอายุ นำมาอบรม พัฒนาความรู้ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าหรือกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสนใจเป็นเสน่ห์ของชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเป็นร้อยละ 90 แน่นอน พร้อมยืนยันว่า กสอ. จะยังคงเป็นพี่เลี้ยงในการประคับประคองชุมชนเกาะเกร็ดให้ก้าวต่อไปในเรื่องที่ต้องพัฒนา เพราะต้นทุนของที่นี่มีแล้วหากปล่อยทิ้งไปไม่พัฒนาจะทำให้เสียหาย กลายเป็นว่าทำแค่เสร็จแต่ไม่เคยสำเร็จ ซึ่งนโยบายของ กสอ. ในการทำโครงการหมู่บ้าน CIV เราไม่เน้นจำนวนหมู่บ้าน แต่เน้นความยั่งยืนและการทำให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี" นายจารุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายสุรัตน์ บัวหิรัญ ประธานกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา กล่าวว่า ชุมชนเกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดบริเวณที่เป็นแหลมตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2265 โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน มีเนื้อที่โดยประมาณ 2,600 ไร่ หรือ 4.2 ตารางกิโลเมตร ต่อมาชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะเกร็ดเมื่อปี 2317 ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและสมัยรัชกาลที่ 2 มาพบแหล่งดินที่พอเหมาะในการทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งจะทำกันในหมู่ที่ 1 7 และ 6 ซึ่งมีคนไทยเชื้อสายมอญร้อยละ 40 ของคนในพื้นที่ ส่วนริมน้ำบริเวณหมู่ที่ 2,3 จะเป็นชุมชนมุสลิมซึ่งข้ามมาจากฝั่งตำบลท่าอิฐประมาณร้อยละ 15 ของคนในพื้นที่ มีอาชีพทำสวน ทำงานหัตถกรรมด้านต่าง ๆ ส่วนที่เหลือจะเป็นคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน จะทำนา ทำสวน ซึ่งในปี 2559 มีผู้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้าน CIV 13 ราย และในปี 2561 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 17 ราย รวมเป็น 30 ราย โดย กสอ. ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีหลายรายที่นำมาปรับใช้และประสบผลสำเร็จ มียอดขายเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากในพื้นที่เกาะเกร็ด ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จึงอยากให้ กสอ. เข้าให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อกระจายรายได้ไปยังทุกภาคส่วนของชุมชนทั้งฝั่งขวา ที่สามารถชอปปิ้ง เลือกซื้อสินค้า ของฝาก ของที่ระลึก และฝั่งซ้าย ที่มีฐานการเรียนรู้ชุมชน เช่น กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ชมวิถีชีวิตชาวมอญริมแม่น้ำเจ้าพระยา และการจัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น นายสุรัตน์ กล่าว