กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ดาว ประเทศไทย
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ประจำปี 2562 มุ่งสร้างจิตสำนึกขยะคือทรัพยากรเพื่อการทิ้งขยะอย่างถูกที่และคัดแยกนำกลับมาใช้ใหม่ รวมพลังจิตอาสากว่า 4,500 คน เก็บขยะชายหาดและนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยขยะพลาสติก แก้ว และโลหะที่เก็บได้จะถูกคัดแยกนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะทั่วไปจะเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานหรือหมักเป็นแก๊สและปุ๋ยเพื่อการเกษตรต่อไป ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเก็บขยะชาดหาดพร้อมกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ได้มีกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ตลอดระยะทางกว่า 15.1 กิโลเมตร ณ บริเวณชายหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ อำเภอเมือง และบริเวณหาดน้ำริน-หาดพยูน-หาดพลา อำเภอบ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระยอง ภายใต้เคมเปญ #PullingOurWeight ซึ่งหมายถึงการรวบรวมปริมาณขยะที่หลุดรอดสู่ท้องทะเลกลับคืนมาเข้าสู่วงจรการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมและครบวงจร
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "รัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาขยะในทะเล โดยการขับเคลื่อนในระดับอาเซียน ที่ได้ผลักดันให้เกิดปฏิญญากรุงเทพ 2019 เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะทะเลร่วมกันในอาเซียน 10 ประเทศ และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นภารกิจที่ใหญ่เกินกว่าหน่วยงานใดจะสามารถจัดการได้เพียงลำพัง จึงต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน กิจกรรมในวันนี้เป็นที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะการนำขยะที่เก็บได้ไปรีไซเคิลตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ที่ต้องการจะนำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 ถ้าหากเราสามารถขยายผลให้ต่อเนื่องได้ก็จะส่งผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน"
ดร. สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชายฝั่งทะเล และช่วยสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะเพื่อหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของประเทศ"
ระยอง ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม ระยองมีปริมาณขยะทั้งจังหวัดต่อเดือนเฉลี่ย 30,000 ตัน คิดเป็นขยะพลาสติกประมาณ 9,000 ตัน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันคัดแยกและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและชายหาดต่าง ๆ
ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า "กิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางระยองโมเดลที่มีเป้าหมายจะทำให้ขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมดโดยไม่มีขยะพลาสติกไปหลุมฝังกลบเลยภายใน 5 ปี"
ภายในงานปีนี้ ยังมีนิทรรศการให้ความรู้ในหัวข้อ "ความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน : ความสำเร็จในการจัดการขยะของชุมชนระยอง" จัดแสดงโครงการนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ตลอด 16 ปี ของกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ หน่วยงาน และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถเก็บขยะได้แล้วกว่า 8 แสนชิ้น รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 89,000 กิโลกรัม โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับประเทศอื่น ๆ ในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
รายชื่อ 36 องค์กรที่ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ปีที่ 17
1) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย 3) กลุ่มบริษัท โกลว์ 4) กลุ่มบริษัทโซลเวย์ 5) กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ 6) กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7) ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี 8) บริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด 9) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฝ่ายซ่อมใหญ่อากาศยานอู่ตะเภา 10) บริษัท โกรเฮ่ สยาม จำกัด 11) บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด 12) บริษัท เจเอสอาร์ บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด 13) บริษัท เซกิซุย สเปเชียลตี้ เคมิคอลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 14) บริษัท ไทยโพลีอะซีทัล จำกัด และ บริษัท ไทยโพลีคาร์บอเนต จำกัด 15) บริษัท ไทยอาซาอีเคมีภัณฑ์ จำกัด 16) บริษัท บางกอกโคเจเนอเรชั่น จำกัด 17) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด 18) บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด 19) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง 20) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 21) บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด 22) บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด 23) บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) 24) บริษัท ศักดิ์ไชยสิทธิ์ จำกัด 25) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 26) บริษัท สยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด 27) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) 28) บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 29) บริษัท อินนิออส สไตโรลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 30) บริษัท อิฮารานิกเกอิ เคมีคัล (ประเทศไทย) จำกัด 31) บริษัท เอดับบลิวเจ เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด 32) บริษัท เอส แอนด์ แอล สเปเชียลตี้ โพลิเมอร์ จำกัด 33) บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด 34) บริษัท เอ็น-เอส สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด 35) บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ 36) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะสถิติประยุกต์