กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดทำ Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามหลักการจัดทำ Big Data ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ซึ่ง Big Data กระทรวงเกษตรฯ เป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลภาคเกษตรไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งข้อมูลภายในหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจะมีความรวดเร็วและทันสถานการณ์แบบวันต่อวัน และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในรูปแบบรายงานหรือสถิติ ถือเป็นการบูรณาการด้านข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน Big Data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พร้อมให้บริการแล้วกับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป โดยมีข้อมูล ด้านการเกษตรที่รวบรวมไว้ทั้งระบบภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง อาทิ จำนวนครัวเรือน เนื้อที่เพาะปลูก ต้นทุน รายได้ ราคา และหนี้สิน กลางทาง อาทิ จำนวนโรงสี ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกร และปลายทาง อาทิ ข้อมูลการส่งออก และสต็อกสินค้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีพืชเศรษฐกิจที่ให้บริการรวม 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อยโรงงาน ลำไย มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว กาแฟ และ สับปะรดโรงงาน
นอกจากนี้ สศก. ยังได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง หรือ Farmer ONE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงทะเบียนเกษตรกรแล้วกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกำลังจะเชื่อมโยงข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในเดือนตุลาคมนี้ โดยฐานข้อมูล Farmer ONE จะมีข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนแบบวันต่อวัน โดยแบ่งประเภทเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) ปลูกพืช 2) เลี้ยงสัตว์ 3) เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4) ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ 5) ปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 6) เลี้ยงสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 7) ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสามารถสืบค้นแบบจำแนกชนิดพืชเพื่อรับทราบจำนวนครัวเรือนแบบรายภาค รายจังหวัด เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ได้ 14 ชนิด คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ลำไย สับปะรดโรงงาน กาแฟ ยางพารา เงาะ มังคุด และ ทุเรียน รวมทั้งข่าวสารสำคัญทั่วไป เช่น ข้อมูลพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำ และจะเร่งนำข้อมูลมาตราการและนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐได้ช่วยเหลือเกษตรกรมาเผยแพร่ให้เกษตรกรทราบ เป็นต้น
ในระยะต่อไป สศก. จะพัฒนา Big Data กระทรวงเกษตรฯ โดยการนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาแสดงผลข้อมูล ในรูปของแผนที่ มีชั้นข้อมูลต่างๆ ที่มาประกอบ เช่น ผลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมเนื้อที่พืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่ตั้งโรงงาน ผู้ประกอบการ แหล่งน้ำ พื้นที่ชลประทาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การวางแผนมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น และพัฒนา Farmer ONE ต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากทุกหน่วยในกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีฐานข้อมูลสำมะโนเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น อันจะทำให้ข้อมูลครอบคลุมสามารถแก้ไขปัญหารายบุคคลได้อย่างตรงจุด
สำหรับท่านที่ต้องการใช้บริการข้อมูล Big Data และ Farmer ONE ของกระทรวงเกษตรฯ สืบค้นข้อมูลได้ที่ http://agri-bigdata.org และ http://farmerone.org หรือจาก QR Code ด้านล่าง ซึ่งเมื่อท่านเข้าสู่เว็บไซต์ Big Data สามารถกรอกแบบสอบถามความพึงพอใจเพื่อที่ สศก. จะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการให้ตรงตามความต้องการและเกิดประโยชน์มากที่สุดต่อไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0 2561 2870 ในวันและเวลาราชการ