กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วม kick off เปิดโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย พร้อมปล่อยคาราวานเคลื่อนที่เร็วมอบถุงยังชีพและเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมเปิดตัว"โครงการ จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย" ในจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมปล่อยคาราวานรถโมบายเคลื่อนที่เร็ว มอบถุงยังชีพ พร้อมช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เตรียมเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรและฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลดทันที พร้อมจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี ให้สหกรณ์กู้ยืมไปให้สมาชิกฟื้นฟูอาชีพ ลงทุนปลูกพืชระยะสั้น เพื่อสร้างรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย ณ ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมเปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกันช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ใน 21 จังหวัด และได้พิธีเปิดตัวโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ พร้อมกันในวันที่ 23 กันยายน 2562 ซึ่งเวทีหลักจะจัดที่สำนักชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ เน้นย้ำให้หน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตร ฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งระยะประสบเหตุและระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด และให้ดูแลเกษตรกรร่วมกันรักษาน้ำ ส่วนหนึ่งไว้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งด้วย รวมทั้งให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริม ดูแล เฝ้าระวังการระบาดของโรคในพืช ในสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรและผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสากระรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการปล่อยขบวนคาราวานรถโมบายเคลื่อนที่เร็ว เข้าไปช่วยเหลือดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย ณ วัดฉิมพลีวัน บ้านงิ้วเหนือ หมู่ 2 ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีบริการซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร การมอบพันธุ์ปลา พันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ การมอบหญ้าอาหารสัตว์ การบำบัดน้ำเสีย และมีเครือข่ายสหกรณ์จากจังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์และชัยภูมิ ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็นไปมอบให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย โดยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เยี่ยมเยือนให้กำลังใจและสอบถามถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยมีส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันสำรวจความเสียหายเรื่องพืช เรื่องสัตว์และประมง และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า น้ำได้ท่วมทั้งในพื้นที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอ และได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ความเสียหายเบื้องต้น พื้นที่การเกษตรในจังหวัดร้อยเอ็ด คาดว่าจะเสียหายจำนวน 788,762 ไร่ ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน พื้นที่ประมงทั้งบ่อกุ้ง บ่อปลา และมีความเสียหายด้านปศุสัตว์ ไก่และสุกรตาย กว่า 644 ตัว ที่อยู่อาศัยของประชาชนเสียหาย 308 ครัวเรือน
"สำหรับความเสียหายในส่วนของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกที่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใน 21 จังหวัดครั้งนี้ มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกะทบ 316 แห่ง สมาชิก 84,775 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรของสมาชิกเสียหาย 1.07 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมแผนฟื้นฟูฯหลังน้ำลดให้เกษตรกร โดยจะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งพื้นที่การเกษตรที่ปลูกพืช ประมงและปศุสัตว์ รวมถึงจะมอบพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์และปลา และส่งเสริม การปลูกพืชระยะสั้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งกรมฯจะเข้ามาดูแลเรื่องการฟื้นฟูอาชีพและหาช่องทางตลาดมารับซื้อผลผลิตให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกัน กรมฯได้จัดทีมช่างผู้ชำนาญงาน และประสานกับสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค ร่วมกันเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลและเครื่องมือทางการเกษตรให้กับเกษตรกร เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกษตรกรได้มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพทันทีหลังน้ำลด"อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สำหรับการบรรเทาปัญหาเร่องหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม มีทั้งในส่วนของเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธกส. และเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร เบื้องต้นกรมฯได้ขอความร่วมมือให้สหกรณ์ได้ร่วมกันดูแลสมาชิกของตนเอง โดยขอให้ชะลอการชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้กับสมาชิกสหกรณ์ และจะดูแลเรื่องเงินทุนเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพ โดยจัดสรรเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) วงเงิน 576.287 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี ให้สหกรณ์ขอกู้ยืมได้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก โดยสหกรณ์สามารถนำไปให้สมาชิกกู้ต่อรายละไม่เกิน 20,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่นเดียวกัน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะต้องประกอบอาชีพทำการเกษตรและพื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายและต้องอยู่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับจังหวัด และยังได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ที่มีหนี้เงินกู้ กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สหกรณ์ขาดรายได้ที่จะนำมาส่งชำระหนี้คืนกพส.ได้ ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี